ปราสาทหินพิมาย

ปราสาทหินพิมาย อยู่ใน อ. พิมาย จ. นครราชสีมา สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา เป็นปราสาทหินบนพื้นราบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยปราสาทประธานเป็นปรางค์องค์ใหญ่ สร้างด้วยหินปูนและหินทราย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศใต้ (โดยปกติปราสาทเขมร มักสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) คงให้รับกับถนนโบราณ ซึ่งตัดตรงจากเมืองพระนครหลวงของขอมมายังปราสาทหินพิมาย หน้าบันของปราสาทเป็นภาพเล่าเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ ภาพศิวนาฏราช เป็นต้น

ปราสาทประธานล้อมรอบด้วยระเบียงคด ภายในลานชั้นในยังมีปรางค์พรหมทัตอยู่ทางทิศตะวันออก และปรางค์หินแดงอยู่ทางทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพ.ศ.1763-17-65 และได้พบประติมากรรมบุรุษนั่งขัดสมาธิมือประนมอยู่เหนืออุระ เชื่อกันว่าเป็นพระรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

หลังปรางค์แดงมีอาคาร เรียกว่าหอพราหมณ์ อาจใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ระหว่างระเบียงคดกับกำแพงสองชั้นเป็นลานชั้นในมีสระน้ำ หรือที่เรียกว่าบาราย อยู่ทั้งสี่มุม นอกกำแพงปราสาททางซุ้มประตูด้านในมีคลังเงิน ซึ่งเคยขุดพบเหรียญสำริดเป็นรูปครุฑหรือหงส์ด้านหนึ่ง และมีอักษรโบราณประกอบ

เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะแขมร หรื่อ กัมพูชา มีลักษณะเป็นเวียงสี่เหลี่ยม ชื่อ พิมาย น่าจะมาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

 

<------------->

 

 

<------------->

 

เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย

ในปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2532 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยาน

ตัวอุทยานตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่นๆที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงในสมัยนั้นของขอม ซึ่งเข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้

(1959)