โอ้เอ๋ว ขนมวุ้นหนึบหนับ อาหารพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อของภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ตขึ้นชื่อเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะชายหาด น้ำทะเลสีสวยใส และแหลมพรหมเทพ จุดแลนด์มาร์กสำคัญที่เรียกได้ว่าถ้าไม่ได้ถ่ายรูปที่นี่ถือว่ามาไม่ถึงภูเก็ต แต่นอกจากสถานที่เหล่านี้แล้ว อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ตก็คืออาหารและขนมหวานท้องถิ่น เช่น โอ้เอ๋ว ที่เรากำลังจะไปทำความรู้จักกัน

โอ้เอ๋ว หรือ โอ๊ะเอ๋ว (薁蕘) อาหารท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต ได้จากวุ้นของเมล็ดโอ้เอ๋ว (薁蕘 หรือ  愛玉) ซึ่งเป็นพืชจำพวกมะเดื่อชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus pumila var. awkeotsang ซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งหรือชนิดย่อยประเภทหนึ่งของต้นตีนตุ๊กแกเกาะผนัง หรือ มะเดื่อเถา (F. pumila) ลักษณะคล้ายเมล็ดแมงลัก ที่แช่น้ำแล้วใช้เมือกโอ้เอ้วมาผสมกับเมือกของกล้วยน้ำว้าใส่เจี่ยกอ (石膏) เพื่อให้โอ้เอ๋วเกาะตัวเป็นก้อน นำมาใส่น้ำเชื่อมและน้ำแข็งใส กินแก้ร้อนใน และลดการกระหายน้ำ

ชาวภูเก็ตจะมีวิธีรับประทานโอ้เอ๋วทั้งหมด 3 แบบ คือ โอ้เอ๋วใส่ถั่วแดงและเฉาก๊วย (ขาว ดำ แดง) โอ้เอ๋วใส่ถั่วแดง (ขาว แดง) และ โอ้เอ๋วใส่เฉาก๊วย (ขาว ดำ) หากใครไปเที่ยวภูเก็ตและอยากลองชิมของหวานชนิดนี้ สามารถหาซื้อได้ที่โรงหนังสยามเก่า และซอยหล่อโรงหรือตลาดฉำฉา

 

<------------->

 

 

<------------->

 

เดิมขนมชนิดนี้มีที่มาจากทางปีนัง ประเทศมาเลเซีย คนขายโอ้เอ๋วเจ้าแรกในภูเก็ตชื่อ แปะเอ๊ง เป็นคนจีน ขายอยู่ในตรอกสุ่นอุทิศ หรือตรอกแปะหล่าวหนั่ว( 伯老撋,แปะหล่าวหนั่ว) ซึ่งยังมีผู้สืบทอดกิจการมาจนถึงปัจุบัน ในบางแหล่งกล่าวว่าของหวานชนิดนี้ ที่ปีนังเรียกว่า บุนทาวบี้แต่พอมาขายที่ภูเก็ตไม่มีคนเรียกชื่อนี้ วันหนึ่งมีคนลิ้นไก่สั้นพูดไม่ชัดมากินโอ้เอ๋ว แปะเอ๊งถามว่า “โฮเหลี่ยวโบ๋” (好料無?) หมายความว่า “ดีไหม รสชาติดีไหม “คนลิ้นไก่สั้นตอบว่า “โอ๊เอี่ยว” คือ โฮเหลี่ยว ซึ่งหมายถึง ดี โอ๊เอี่ยวที่คนลิ้นไก่สั้นพูดก็เพี้ยนมาเป็น “โอ้เอ๋ว” และเป็นชื่อเรียกของหวานชนิดนี้ที่ภูเก็ตตลอดมา

แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอ้เอ๋ว (薁蕘) คือชื่อของหวานชนิดหนึ่งในมณฑลฮกเกี้ยนและไต้หวัน ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานกันในช่วงฤดูร้อน และเผยแพร่เข้าสู่เอเชียอาคเนย์โดยชาวจีนอพยพจนกลายเป็นที่นิยมนั่นเอง

(1783)