เกด ดอกไม้ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เกด (Manilkara hexandra) หรือ “ราชายตนะ” ดอกไม้ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชื่อเกดปรากฏในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน และ รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 1 ในพุทธประวัติต้นราชายตนะ เป็นที่ประทับในสัปดาห์ที่7 หลังจากการตรัสรู้

 

เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีน้ำยางขาว สูง 15-25 ม. เรือนยอดแน่นทึบเป็นพุ่มกลม ลำต้น และกิ่งมักคดงอ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทาหรือสีคล้ำ แตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมหรือแตกเป็นร่องลึกตามยาว เปลือกในสีแดงอมน้ำตาลหรือชมพู ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตอนปลายกิ่ง รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 2.5-6 ซม. ยาว 5-12 ซม. ปลายมนกว้าง และหยักเว้า โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีนวล เส้นแขนงใบเรียงขนานกันถี่เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 1.6-2 ซม.

 

<------------->

 

 

<------------->

 

 

ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกสั้น ออกตามง่ามใบและเหนือรอยแผลใบปลายดอกชี้ลง ดอกสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก 6 แฉก เกสรเพศผู้สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์อย่างละ 6 อัน เรียงสลับกัน รังไข่มีขนนุ่มทั่วไป ผลกลมรี กว้าง 0.9-1.1 ซม. ยาว 1.4-2 ซม. ส่วนบนมีก้านเกสรเพศเมียติดค้างอยู่เป็นติ่งแหลม ฐานผลมีกลีบเลี้ยงที่เจริญขึ้นมารองรับ ผลสุกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เนื้อนุ่ม มี 1-2 เมล็ด เมล็ดแข็ง สีน้ำตาลแดงเป็นมัน รูปไข่ ยาว 1-1.5 ซม.

 

 

พบในศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย เกาะไหหลำของจีน เวียดนาม พม่า ไทย และกัมพูชาในประเทศไทยพบในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นกระจัดกระจายในป่าดิบ บนพื้นที่ดินร่วนปนทรายใกล้ฝั่งทะเล และตามเขาหินปูนบนเกาะที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก

(1304)