กลองสะบัดชัย

กลองสะบัดชัย เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผน เร้าใจ มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้คนที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

ในสมัยก่อนนั้นมีกลองชนิด ใช้ตีในการออกศึก ตีเรียกฝนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาล หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีทำนองอยู่หลายทำนอง แล้วแต่ใช้ประกอบในงานหรือพิธี เช่น ทำนองออกศึก เป็นทำนองที่ใช้ตีเมื่อจะไปออกศึก เพื่อให้นักรบ

มีความฮึกเหิม เป็นการปลุกขวัญกำลังใจให้แก่นักรบ ทำนองชนะศึก(เป็นทำนองที่นิยมตีกันในปัจจุบัน) ตีเมื่อรบชนะเป็นการตีเอาชัยชนะกลับเข้าเมือง นักรบจะแสดงท่าที่เป็นฮึกเหิมโดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย ประกอบการตีด้วย ทำนองแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ และทำนองสุดธรรม ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำนองฝนแสนห่า ใช้ตีเรียกฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล

 

<------------->

 

 

<------------->

 

ปัจจุบันศิลปะการตีกลองสะบัดชัย เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ได้นำชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ล้านนา และบทบาทของกลองสะบัดชัย จึงอยู่ในฐานะการแสดงในวัฒนธรรมล้านนาต่างๆ เช่น งานขันโตก งานพิธีต้อนรับแขกเมือง ขบวนแห่ แต่โอกาสใช้กลองสะบัดชัยแต่เดิมมาถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายประการซึ่งมีหลักฐานปรากฏในวรรณกรรมต่างๆมากมาย ได้แก่ ตีบอกสัญญาณโจมตีข้าศึก และสัญญาณบอกข่าวในชุมชน  เป็นมหรสพ เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ และเป็นเครื่องประโคมเพื่อความสนุกสนาน

ในปัจจุบันมีการใช้กลองสะบัดชัย ตีในงานบุญ เช่น งานสลากภัตต์ ลักษณะนี้จะตีจังหวะเร่งเร็วเสมอต้นเสมอปลาย โดยมีคนใช้แส้ไม้ไผ่ที่เรียกว่าไม้แสะ ฟาดหน้ากลองด้วยจังหวะ แต่ไม่มีฉาบ และฆ้องประกอบ(ทำนองออกศึก) ลักษณะการตีดังกล่าวทั้งหมดเป็นการตีอยู่กับที่ ภายหลังเมื่อเข้าขบวนก็ได้ใช้จังหวะหรือทำนอง สะบัดชัยไม่ใช้ไม้แสะ(ทำนองชนะศึก)

ปัจจุบันนี้กลองสะบัดชัยคงเหลือไว้เป็นกลอง 3 ประเภท คือ กลองสองหน้าขนาดใหญ่ มีลูกตุบ ที่มักเรียกว่า กลองบูชา , กลองสองหน้ามีลูกตุบและคานหาม  เรียกว่ากลองชัย (สะบัดชัยลูกตุบ)และกลองสองหน้า มีคานหาม ไม่มีลูกตุบ(กลองละบัดชัยสมัยใหม่)

(1578)