ผ้าแพรวา

แพรวา เป็นผ้าทอมือของชาวผู้ไทในจังหวัดกาฬสินธุ์มีลักษณะเช่นเดียวกับผ้าสไบ แต่มีสีสัน ลวดลาย ที่หลากหลายมากมาย และนิยมทอด้วยไหมทั้งผืน การทอผ้าแพรว่านั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการทอผ้าจก คือใช้มือจก ยกเส้นด้ายยืน แล้วสอดด้ายสีไปตามลายผ้าที่ต้องการ

 

ลวดลายของแพรวามีลักษณะคล้ายคลึงกับลายขิดอีสานอยู่บ้าง ที่แตกต่างกันก็มี ความหลากหลายของสีสันในแต่ละลวดลายนั้นน้อยกว่าผ้าจกของชาวไทยพวนหรือไทยยวน แต่มีลักษณะรวมกันคือลายหลักมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของลายผ้า)

ลวดลายของแพรวานั้นมีความหลากหลายพอๆ กับลายผ้าแบบอื่น ขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ของช่างทอนั่นเอง ลานหลักๆ ก็เช่น ลายนาคสี่แขน ช่อขันหมาก ดาวไต่เครือ และมีลายแถบ เช่น ดอกดาวหมู่ ดอกแปดขอ เป็นต้น ในผืนหนึ่งๆ จะลวดลายนับสิบลาย

การเรียงตัวของลายผ้านั้น เนื่องจากแพรวาใช้พาดในแนวตั้ง ลายผ้าจึงไล่ไปทางแนวตั้ง ขณะที่ผ้าจกลายผ้าจะไล่ไปแนวนอน ตามระดับการมอง ผ้าแพรวาของชาวผู้ไทแต่เดิมนั้น มีโทนสีเป็นสีแดงคล้ำ หรือสีปูน เป็นหลัก

 

<------------->

 

 

<------------->

 

ผ้าแพรวาที่ทอในปัจจุบันมีสองลักษณะ คือผ้าหน้าแคบขนาดแพรวาแบบเดิม (ผลิตน้อย) กับขนาดหน้ากว้างประมาณ 1 เมตร สำหรับการตัดเย็บใช้สอยอื่นๆ

การทอผ้าแพรวาปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้มีการสืบทอดศิลปะการทอผ้าแพรวาแพร่หลายมากขึ้น จึงมีความพยายามผลิตผ้าให้ผู้คนได้ซื้อหลากหลายทั้งในด้านลวดลาย สีสัน และยังใช้วิธียกเขา เพื่อความรวดเร็ว แทนที่จะใช้นิ้วยกด้ายสอดเช่นเดิม ความประณีตของลวดลายจึงลดลงไป เนื่องจากการยกเขานั้นเหมือนการทำพิมพ์ที่จะต้องปรากฏลายซ้ำๆ เป็นช่วงๆ

 

แหล่งผลิตผ้าแพรวาที่สำคัญ คือ ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นยังมีที่ศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร และโครงการส่งเสริมศิลปาชีพอื่นๆ ในแถบจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย และมุกดาหาร

(1434)