ผ้าทอเกาะยอ

ผ้าทอเกาะยอ หรือ ผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอพื้นเมืองของตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา ที่มีความประณีตและสีสันที่สวยงาม โดยมีการทอยกดอกที่มีลวดลายอ่อนนุ่ม ถือเป็นสัญลักษณ์หัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้และยังเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ปี 2549

สืบสานตำนานจากชาวเกาะยอที่ส่วนหนึ่งอพยพมาจากตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ และตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา มีเชื้อสายจีน ทำอาชีพประมง ทำสวนยาง สวยผลไม้ และงานหัตถกรรมพื้นบ้าน คือการทอผ้าพื้นเมืองสำหรับใช้ในครัวเรือน จึงเป็นที่มาของ “ผ้าทอเกาะยอ”

ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่า ชาวเกาะยอ เริ่มทอผ้ากันตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ทราบว่าที่เกาะยอมีการทอผ้ามานับเป็นร้อยๆปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่บนเกาะยอสืบสานการถ่ายทอดภายในครอบครัวเรื่อยมา

จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของผู้เฒ่าผู้แก่ได้ความว่า การทอผ้าของเกาะยอมีมาตั้งแต่ประเทศสยามสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยหมู่บ้านเกาะยอนั้นเป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะทั้งโดยทางบนบกและทางน้ำ คนที่อพยพมาในช่วงแรกนั้นซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน ได้นำอาชีพการทอผ้ามาสอนชาวบ้านในบริเวณนั้น การทอผ้าจะทอด้วย “กี่มือ” ที่โครงสร้างเป็นไม้ไผ่ และใช้“ตรน” แทนลูกกระสวย

 

<------------->

 

 

<------------->

 

ผ้าที่ทอในระยะแรกนั้นจะเป็นแบบเรียบๆ ไม่มีลวดลาย ระยะหลังได้มีการปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทอผ้าและย้อมด้วยสีธรรมชาติและมีการทอเป็นลายดอกชนิดต่างๆในเวลาต่อมา เช่น “ลายก้านแย่ง”” ชื่อเดิมคือ “ลายคอนกเขา” ซึ่งเป็นลายที่สวยที่สุด และเมื่อปีพ.ศ. 2375 ชาวบ้านเกาะยอได้นำผ้าเกาะยอขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ลายราชวัตร” แปลว่า “กิจวัตรหรือการกระทำ”

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอเกาะยอ มีการสั่งสอน สืบทอดต่อกันภายในครัวเรือนเรื่อยมา เป็นเวลาหลายร้อยปี จนปรากฏว่ามีเพลงกล่อมเด็กเก่าแก่หลายบท ที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมและวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวเกาะยอซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่บนเกาะเล่าว่า ได้ฟังเพลงกล่อมเด็กเหล่านั้นมาจากยายอีกต่อ นอกจากนั้นยังมีปริศนาคำทายเกี่ยวกับเครื่องมือทอผ้าด้วย กลุ่มผ้าทอเกาะยอ กลุ่มผ้าทอเกาะยอมีการเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2539 โดยมีการติดต่อกับหน่วยงานราชการ

(1779)