วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร ตามประวัติพระนางจามเทวีเคยเสด็จมานมัสการ และทำการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล มีความสวยงาม และมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า

ประตูโขง เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่สวยงามก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น ๆ มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง
มณฑปพระเจ้าล้านทอง วิหารหลวง เป็นวิหารประธานของวัด ตั้งอยู่บนแนวเดียวกับประตูโขง และองค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ภายในวิหารบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง ด้านในของแนวคอสอง มีภาพเขียนสีโบราณเรื่องชาดก

เจดีย์ องค์พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลายหรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

 

<------------->

 

 

<------------->

 

วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปร่างและสัดส่วนงดงาม ภายในคอสองมีภาพเขียนสีโบราณที่เก่าแก่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 45 นิ้ว

หอพระพุทธ หอพระพุทธ เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม ฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ สร้างขึ้นสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อปี พ.ศ. 1992

วิหารพระพุทธ สร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นวิหารโล่ง ได้มีการบูรณะซ่อมแซมภายหลัง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 40 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะ และส่วนสัดที่งดงามมาก

บันไดทางขึ้นด้านหน้าออกแบบเป็นรูปมกรคายพญานาคทั้งสองข้างบันได เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว สร้างในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2331

(910)