ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา

ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา เป็นประเพณีโบราณของชาวบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนคนไทยดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมาสืบย้อนไปได้กว่า 700 ปี นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งยังคงสืบทอดประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบันโดยประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบันนั้น คล้ายคลึงกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางทั่วไป แต่มีการปรับประยุกต์ขั้นตอนบางอย่างให้สะดวกขึ้น โดยประเพณีทำบุญกลางบ้านนี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาจะแยกจัดพิธีเป็น 2 ครั้งคือในต้นเดือน 3 จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันออก (บ้านเหนือ)
ปลายเดือน จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันตก (บ้านใต้)
โดยมีบริเวณในการจัดแน่นอน โดยบ้านเหนือจัดที่ทางสามแพร่งเหนือหมู่บ้าน ส่วนบ้านใต้จัดที่ลานข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา โดยชาวบ้านจะเป็นผู้ร่วมกันกำหนดวันทำบุญ

ขั้นตอนในการประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านเริ่มจากชาวบ้านเตรียมทำกะบาน โดยทำเป็นถาดกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยม ปักธงกบิล 4 ทิศ ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมไปถึงวัวควาย ไก่หรือสัตว์เลี้ยงอื่นด้วย ใส่เสื้อผ้าให้รูปคน มีการใส่ผักพล่าปลายำ พริกแห้ง เกลือ หัวหอม ข้าวสาร แล้วปักธูปลงในกะบาน และใส่สตางค์ลงไปด้วย

 

<------------->

 

 

<------------->

 

วันจัดงานทำบุญกลางบ้านชาวบ้านจะถือกะบานนำไปวางไว้บริเวณปรำพิธีซึ่งตั้งอยู่บริเวณพระพุทธรูป โดยจะมีการก่อเจดีย์ทรายปักธงบนยอดเจดีย์และประดับด้วยใบมะพร้าว ธงกบิลฯลฯ พร้อมกับทำกำแพงล้อมทั้ง 4 ทิศ พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์จากวัดคุ้งตะเภามาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรในเวลาเย็น ในระหว่างพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์


เมื่อพระสวดจบบทหนึ่งก็จะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง ครั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบในช่วงค่ำ พระสงฆ์จะสวดบท สุมงฺคลคาถา (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ) และชาวบ้านก็จะจุดธูปเทียนในกะบานและนำกะบานไปวางไว้ตามทางสามแพร่งหรือสถานที่ ๆ กำหนดไว้ และมีการละเล่นต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ในวันที่สองจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารเช้าถวายจตุปัจจัย จึงเป็นอันเสร็จพิธี

(610)