ตลาดสำเพ็ง

ตลาดสำเพ็ง เป็นตลาดแห่งหนึ่งที่อยู่ในย่านสำเพ็งหรือเยาวราชในปัจจุบัน หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายเมืองมาตั้งยังฝั่งพระนคร (กรุงรัตนโกสินทร์) ก็โปรดเกล้าให้ชาวจีนโยกย้ายจากบริเวณท่าเตียนไปอยู่ ณ ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง

ชาวจีนก็ได้สร้างชุมชนของตัวเอง ทั้งการสร้างย่านการค้าขาย จนเติบโตกว้างขวาง โดยส่วนมากจะอาศัยอยู่ทางใต้ของพระนคร ได้แก่ ชุมชนตลาดสะพานหัน ตลาดเก่า ตลาดสำเพ็ง ตลาดวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) และตลาดน้อย

สำเพ็งเวลานั้นเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จัดได้ว่าเป็นตลาดบกที่ใหญ่ที่สุดของพระนคร สินค้าที่นำเข้ามาขายนอกจากจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยมากเป็นข้าวของเครื่องใช้จากประเทศจีน สำเพ็งนอกจากจะเป็นตลาดใหญ่แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมอบายมุขระดับใหญ่ของประเทศในยุคนั้น มีทั้งโรงฝิ่น บ่อนการพนัน และโรงหญิงโสเภณี ซึ่งมีอยู่หลายสำนัก

 

<------------->

 

 

<------------->

 

และด้วยเหตุที่เป็นย่านการค้าขายและแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น มีการเปรียบเทียบภาพของสำเพ็งในยุคนั้นว่า “ไก่บินไม่ตกพื้น” เพราะหลังคาบ้านแต่ละหลังต่างเกยกัน ทำให้มีเหตุเพลิงไหม้บ่อยอยู่เป็นประจำนั่นเอง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่า สำเพ็งนั้นเติบโตมากเกินไปแล้ว และยังเป็นแหล่งไม่เจริญหูเจริญตา ฝรั่งหรือชาวต่างชาติที่มาเห็นต่างตำหนิติเตียน พระองค์จึงมีรับสั่งให้สร้างถนนตรงกลางสำเพ็ง เพื่อทำการขยายชุมชนและย่านการค้าให้ใหญ่โตรโหฐานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งโปรดเกล้าให้สร้างตึกแบบฝรั่ง เพื่อให้ประชาชนได้ทำการค้าขาย ถนนที่สร้างใหม่ดังกล่าว เช่น ถนนทรงวาด ถนนราชวงศ์ เป็นต้น

ตลาดสำเพ็งในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์รวมของสินค้าจำนวนมาก สายหลักของสำเพ็งที่คึกคักตั้งอยู่ที่ถนนมังกรและถนนผลิตผลใกล้เยาวราช กับถนนวานิชซึ่งต่อเนื่องไปถึงพาหุรัดได้ สินค้าที่ขายในสำเพ็งส่วนใหญ่เป็นสินค้ากิฟช็อป ตุ๊กตา ของเล่น เครื่องเขียน เครื่องประดับ กิ๊บติดผม กระเป๋า รองเท้า อุปกรณ์ของใช้ในบ้าน ดอกไม้ปลอม อาหารแห้ง ที่มีน้อยจะเป็นพวกเสื้อผ้าซึ่งไม่เน้นกันเท่าใด โดยฝั่งเยาวราชจะมีกิฟช็อป เครื่องเขียน ตุ๊กตาและรองเท้าขายอยู่มาก ส่วนอีกฝั่งที่อยู่ติดกับพาหุรัดจะเน้นขายผ้าเป็นหลัก

(1602)