ไข้เลือดออก

ไข้เด็งกี (อังกฤษ: Dengue fever), ไข้เลือดออกเด็งกี (Dengue hemorrhagic fever) หรือในประเทศไทยนิยมเรียกว่า ไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อซึ่งระบาดในเขตร้อน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และมีผื่นลักษณะเฉพาะซึ่งคล้ายกับผื่นของโรคหัด

 

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีอาการรุนแรง จนกลายเป็นไข้เลือดออกเด็งกีที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งทำให้มีเลือดออกง่าย มีเกล็ดเลือดต่ำ และมีการรั่วของพลาสมา หรือรุนแรงมากขึ้นเป็นกลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (Dengue shock syndrome) ซึ่งมีความดันโลหิตต่ำอย่างเป็นอันตรายได้

 

ผู้ติดเชื้อไวรัสเด็งกีส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ (80%) หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นไข้ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆอีกส่วนหนึ่งมีอาการรุนแรงกว่า (5%) และเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาการรุนแรงมากจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 3-14 วัน แต่ส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 วัน  ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด แต่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาด และมีไข้หลังกลับมาเกิน 14 วัน มีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นไข้เลือดออก ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มีอาการไม่ต่างจากหวัดหรือกระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบ (ท้องเสีย อาเจียน) แต่มีโอกาสป่วยหนักได้มากกว่าผู้ใหญ่

 

อุบัติการณ์ของไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อ 50-100 ล้านคนในแต่ละปี โรคนี้มีการอธิบายเอาไว้ครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1779 ส่วนไวรัสที่เป็นสาเหตุและกลไกการติดต่อนั้นค้นพบเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาไข้เลือดออกได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งทั่วโลก มีประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาดมากกว่า 110 ประเทศ ปัจจุบันนอกจากความพยายามในการลดจำนวนยุงแล้วยังมีความพยายามในการพัฒนาวัคซีนและยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับไวรัสอยู่ด้วย

 

บุคคลส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้เด็งกีฟื้นตัวโดยไม่มีปัญหาต่อเนื่อง อัตราตายอยู่ที่ 1–5% โดยปราศจากการรักษา และน้อยกว่า 1% โดยได้รับการรักษาอย่างเพียงพออย่างไรก็ดี โรครุนแรงมีอัตราตายที่ 26% ไข้เด็งกีเป็นโรคประจำถิ่นในกว่า 110 ประเทศมีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 50 ถึง 100 ล้านคนต่อปี ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลห้าแสนครั้งและมีผู้เสียชีวิตประมาณ 12,500–25,000 คน

 

(116)