แมงลัก

แมงลัก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum × citriodourum) เป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพรา-โหระพา แมงลักมีใบเล็ก สีอ่อน บอบบาง ช้ำง่ายและเหี่ยวง่ายกว่า ชื่อสามัญเดิมเรียกกันว่า hoary basil โดยนำมาจากลักษณะที่มีขนอ่อนสีขาวๆ บริเวณก้านใบและยอดอ่อน ต่อมาก็เปลี่ยนมาเรียกว่า lemon basil ตามลักษณะกลิ่นที่คล้ายส้ม-มะนาว ส่วนแมงลักศรแดงของไทยเรียกว่า thai lemon basil

แมงลักนำไปใช้ได้ทั้งใบและเมล็ด ใบมีกลิ่นฉุน ใช้ประกอบอาหารเช่นเดียวกับกะเพราและโหระพา ส่วนมากจะใช้รับประทานกับขนมจีน หรือใส่เครื่องแกงต่างๆ ส่วนเมล็ดแมงลักใช้ทำเป็นขนมอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ เมล็ดแมงลักนำมาทำเป็นยาระบายและอาหารเสริมลดความอ้วนได้

 

แมงลักในประเทศไทยนั้น มี “ศรแดง” เป็นสายพันธุ์หลักเพียงสายพันธุ์เดียว ที่เหลือเป็นพันธุ์ผสมบ้าง พันทางบ้าง ลักษณะของพันธุ์ศรแดงที่ดีนั้น ใบต้องใหญ่พอดิบพอดี ไม่เล็กจนแคระแกร็น ดอกสีขาวเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร

 

แมงลักมีโปรตีน 3.8 กรัมต่อน้ำหนักใบสด 100 กรัม ซึ่งสูงกว่ากะเพราและโหระพา ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย รายงานว่า แมงลัก 1 ขีด มีบีตา-แคโรทีนสูงถึง 590.56 ไมโครกรัม เทียบหน่วยเรตินัล สูงกว่ากะเพราและโหระพา และให้แคลเซียม 140 มิลลิกรัม

 

ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่า ใบแมงลักให้พลังงาน 0.032 กิโลแคลอรี่ วิตามินเอ 9,164 หน่วยสากล และวิตามินบี2 ประมาณ 0.14 มิลลิกรัม ซึ่งน้อยกว่ากะเพราและโหระพา แต่แร่ธาตุอื่นๆ มีสูงกว่า เช่น มีไขมันสูงถึง 0.8 กรัม แป้งมากถึง 11.1 กรัม แคลเซียม 350 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 86 มิลลิกรัม เหล็ก 4.9 มิลลิกรัม วิตามินบี1 0.30 มิลลิกรัม และวิตามินซี 78 มิลลิกรัม

แหล่งเพาะปลูกแมงลักภายในประเทศไทย ให้ผลผลิตเพียง 112 กิโลกรัม ต่อพื้นที่เพียง 148 ไร่เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราส่วนผลผลิตต่อไร่ ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกะเพรา และโหระพา

(145)