กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล : Hubble Space Telescope คือ กล้องโทร ทรรศน์ในวงโคจรของโลกที่กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีนำส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1990 ตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ เอ็ดวิน ฮับเบิล กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลไม่ได้เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวแรกของโลก แต่มันเป็นหนึ่งในเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การศึกษาดาราศาสตร์

โครงการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1923 กล้องฮับเบิลได้รับอนุมัติทุนสร้างในช่วงปี ค.ศ. 1970 แต่เริ่มสร้างได้ในปี ค.ศ. 1983 การสร้างกล้องฮับเบิลเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องด้วยปัญหาด้านงบประมาณปัญหาด้านเทคนิค และจากอุบัติเหตุกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ กล้องได้ขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 1990 แต่หลังจากที่มีการส่งกล้องฮับเบิลขึ้นสู่อวกาศไม่นานก็พบว่ากระจกหลักมีความคลาดทรงกลมอันเกิดจากปัญหาการควบคุมคุณภาพในการผลิต ทำให้ภาพถ่ายที่ได้สูญเสียคุณภาพไปอย่างมาก ภายหลังจากการซ่อมแซมในปี ค.ศ. 1993 กล้องก็กลับมามีคุณภาพเหมือนดังที่ตั้งใจไว้

ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลได้รับมอบหมายให้ออกแบบและก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์ ศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดได้รับมอบหมายให้ควบคุมอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทั้งหมดและเป็นศูนย์ควบคุมสำหรับโครงการนี้ ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลจ้างบริษัทเพอร์กินเอลเมอร์ (PerkinElmer) เพื่อออกแบบและสร้างอุปกรณ์ด้านภาพกับเซ็นเซอร์นำทางอย่างละเอียดสำหรับกล้องโทรทรรศน์ และจ้างบริษัทล็อกฮีด (Lockheed) เพื่อสร้างยานอวกาศที่จะใช้ขนส่งกล้องโทรทรรศน์

การออกแบบยานอวกาศที่ใช้บรรจุกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ถือเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมอย่างหนึ่ง มันจะต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างมหาศาลระหว่างช่วงที่มันได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงและช่วงที่มันอยู่ในเงามืดของโลก และจะต้องมั่นคงเพียงพอที่จะทำให้ระบบชี้ตำแหน่งกล้องโทรทรรศน์จากพื้นโลกชี้ได้แม่นยำ ฉนวนที่หุ้มห่อหลายชั้นช่วยทำให้อุณหภูมิในกล้องโทรทรรศน์คงที่และล้อมโครงอะลูมิเนียมที่มีกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ภายใน ภายในโครงอะลูมิเนียมมีกรอบแกรไฟต์-อีพ็อกซีช่วยยึดส่วนประกอบของกล้องโทรทรรศน์ให้ติดแน่น


การที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลลอยอยู่นอกชั้นบรรยากาศของโลกทำให้มันมีข้อได้เปรียบเหนือกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนพื้นโลก นั่นคือภาพไม่ถูกรบกวนจากชั้นบรรยากาศ ไม่มีแสงพื้นหลังท้องฟ้า และสามารถสังเกตการณ์คลื่นอัลตราไวโอเลตได้โดยไม่ถูกรบกวนจากชั้นโอโซนบนโลก ตัวอย่างเช่น ภาพอวกาศห้วงลึกมากของฮับเบิลที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล คือภาพถ่ายวัตถุในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยมีมา

(217)