Koala แม้หน้าเหมือนหมี แต่พวกเราไม่ใช่หมี

โคอาลา คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกระเป๋าหน้าท้อง จำพวกพอสซัม ซึ่งถูกจัดแสดงตามสวนสัตว์ทั่วโลก พวกมันถือได้ว่า เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิตอยู่อีกชนิดหนึ่งในโลก เนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานฟอสซิลโคอาลายักษ์ อายุกว่า 20 ล้านปี ในออสเตรเลียตอนใต้

จากรูปร่างหน้าตาคล้ายตระกูลหมี ทำให้ผู้คนนิยมเรียกมันว่า “หมีโคอาลา” หรือ “หมีต้นไม้” พวกมันมีอายุราว 13-20 ปี กระจายพันธุ์ในป่าที่มีต้นยูคาลิปตัส ปัจจุบันสามารถพบได้ใน รัฐควีนส์แลนด์, รัฐนิวเซาท์เวลส์, รัฐวิกตอเรีย และ รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ในประเทศออสเตรเลีย ชื่อสามัญของ “โคอาลา” นั้นมาจากภาษาอะบอริจินส์ มีความหมายว่า “ไม่กินน้ำ” จากพฤติกรรมไม่กินน้ำ อาจเพราะพวกมันได้รับน้ำในปริมาณเพียงพอจากใบยูคาลิปตัสอยู่แล้ว

โดยโคอาลาที่อยู่ทางตอนใต้จะมีขนาดใหญ่กว่าที่อื่นอยู่เล็กน้อย ตัวผู้สูงราว 78 เซนติเมตร หนัก 11.8 กิโลกรัม ตัวเมียสูงราว 72 เซนติเมตร หนัก 7.9 กิโลกรัม ในทางตอนเหนือตัวผู้จะหนัก 6.5 กิโลกรัม ตัวเมียหนักเฉลี่ย 5.1 กิโลกรัม ส่วนวัยแรกเกิดพวกมันจะหนักแค่เพียง 0.5 กิโลกรัมเท่านั้น พวกมันมีขนสีเทาจนถึงน้ำตาลปนเหลือง มีสีขาวบริเวณคาง ช่วงอก ด้านหน้าของแขนและขา ขนที่หูมีสีขาวยาวเป็นปุย โคอาล่าทางตอนใต้มีขนหนา ดูนุ่ม บริเวณหลังมีขนหนายาวกว่าบริเวณท้อง ส่วนทางตอนเหนือจะมีขนสั้นกว่า

พวกมันโปรดปรานการกินใบยูคาลิปตัสมาก ทำให้มีการพัฒนาฟันและระบบการย่อยสำหรับการกินและย่อยใบยูคาลิปตัสได้ดี และแม้ใบยูคาลิปตัสมีสารพิษต่อสัตว์อื่น แต่พิษนั้นไม่สามารถทำอะไรโคอาลาได้เลย อย่างไรก็ตามพวกมันสามารถดูดซึมสารอาหารจากการย่อยไฟเบอร์ได้เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ทำให้พวกมันต้องกินใบยูคาลิปตัสต่อตัวถึงวันละ 2,000 ถึง 5,000 กรัม โดยใบยูคาลิปตัสมีความเหนียวมาก พวกมันจึงต้องเคี้ยวแล้วเคี้ยวอีกกว่าจะกลืนลงไป การเคี้ยวอาจจะมีมากถึง 16,000 ครั้งต่อวัน ทำให้เมื่อมีอายุมาก ฟันของพวกมันจะสึก

  

โคอาลาจะนอน 16-20 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อรักษาพลังงานอันน้อยนิดจากการกินแค่ใบยูคาลิปตัสไว้ และด้วยเหตุเดียวกันนี้เอง ทำให้พวกมันมีการวิวัฒนาการตัวเองให้มีสมองเท่ามะเขือเทศหนึ่งผลเท่านั้น พวกมันมีการใช้เสียงติดต่อสื่อสาร โดยตัวผู้จะใช้ในการประกาศเขตแดน ส่วนตัวเมียมักไม่ค่อยร้อง ยกเว้นช่วงโมโหหรือใช้สื่อสารกับลูก เมื่อเกิดความกลัวพวกมันจะส่งเสียงร้องคล้ายเด็กร้องไห้

ปกติพวกมันจะอยู่อย่างสันโดษ แต่ในฤดูการสืบพันธุ์ช่วงเดือนกันยายน–มีนาคม ตัวผู้และตัวเมียจะมาพบกัน ตัวเมียเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ เมื่ออายุราว 3-4 ปี มักมีลูกปีละตัว แต่อาจมีลูกปีเว้นปีหรือ 2 ปีขึ้นอยู่กับอายุและสภาพแวดล้อม

โดยวัยอ่อนจะนอนกินนมอยู่ในกระเป๋าแม่ พอเข้าสัปดาห์ที่ 22 จะโผล่หัวออกมานอกกระเป๋า เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 30 มันจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกกระเป๋า พอสัปดาห์ที่ 36 จะไม่ยอมเข้ากระเป๋าแม่และจะเกาะอยู่บริเวณหลัง แต่เมื่ออากาศเย็นจะกลับเข้าไปมุดอยู่ในกระเป๋าอีกครั้ง

หลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์มันจะเริ่มห่างแม่ เพื่อลองเที่ยวเล่นแต่ยังคงอยู่ในระยะใกล้ๆ พอเข้า 48 สัปดาห์ นิสัยรักการผจญภัยจะแผลงฤทธิ์มากขึ้น มันจะไม่ร้องเรียกแม่เวลาแม่เดินห่างไปไกลอีกแล้ว จนเมื่อ 1 ปี จะแยกจากแม่ไป ในระยะแรกๆลูกจะกินมูลแม่ เพื่อให้ร่างกายสะสมแบคทีเรียจำพวกเพปไทด์ซึ่งมีฤทธิ์ในการย่อยใบยูคาลิปตัสด้วย

(2463)