ละคร

ละครหมายถึงการแสดงรำที่เป็นเรื่องเป็นราวดำเนินเรื่องไปโดยลำดับมีตัวเอกของเรื่อง ฝ่ายชายเรียกว่าตัวพระ เพราะสมัยโบราณแสดงแต่เรื่องจักรๆวงศ์ๆ เป็นเรื่องของกษัตริย์ มีชื่อว่าพระต่างๆ ฝ่ายหญิงเรียกว่า ตัวนาง เพราะในเรื่องที่แสดงมักชื่อว่านางต่างๆ และตัวประกอบอื่นๆแล้วแต่ในเรื่องจะมีละครมีหลายแบบ แต่ละแบบมีการแสดงและความมุ่งหมายแตกต่างกัน เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครพันทาง และละครดึกดำบรรพ์

ละครโนราเป็นละครที่เก่าแก่ที่สุด เป็นละครของชาวภาคใต้ ในสมัยโบราณผู้แสดงมีเพียง 3 คน เป็นผู้ชายล้วนเป็นละครที่มุ่งหมายตลกขบขันและการดำเนินเรื่องรวดเร็วในสมัยปัจจุบันมีผู้หญิงแสดงร่วมด้วยและจำนวนผู้แสดงก็เพิ่มขึ้นไม่จำกัด การแต่งกาย มีการสวมเสื้อ ซึ่งประดับประดาด้วยลูกปัดเป็นอันมาก การแสดงเริ่มต้นด้วยไหว้ครูแล้วรำซัด แล้วจึงจับเรื่อง ผู้แสดงร้องเองบ้าง มีต้นเสียงร้องให้บ้าง นักดนตรีก็ร้องเป็นลูกคู่ด้วย ละครแบบนี้ชาวภาคกลางเรียกว่า ละครชาตรี การที่เรียกว่าโนราก็เพราะตามประวัติว่าครั้งแรกแสดงแต่เรื่องนางมโนห์รา จึงเรียกว่ามโนห์รา

ละครนอกเป็นละครของภาคกลาง นัยว่าวิวัฒนาการมาจากมโนราห์ เพราะมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกันคือ ดำเนินเรื่องรวดเร็ว และตลกขบขัน สมัยโบราณผู้แสดงผู้ชายล้วน เพิ่งมีผู้หญิงแสดงในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ได้ทั้งนั้น โรงละคร มีฉากเป็นผ้าม่าน มีประตูเข้าออก 2 ประตู หลังฉากเป็นที่แต่งตัว จังหวะของการร้องและการบรรเลงดนตรีค่อนข้างเร็ว เวลาเล่นตลกมักเล่นนานๆ ไม่คำนึงถึงการดำเนินเรื่อง และไม่ถือขนบธรรมเนียมประเพณี เริ่มต้นแสดงก็จับเรื่องที่เดียว ไม่มีการไหว้ครู เรื่องที่ละครนอกแสดงได้สนุกสนานเป็นที่นิยมแพร่หลาย บทที่สามัญชนแต่งได้แก่ เรื่องแก้วหน้าม้า

ละครในเป็นละครที่เกิดขึ้นในพระราชฐานจึงเป็นละครที่มีระเบียบแบบแผน สุภาพ ละครในมีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ รักษาศิลปะของการรำอันสวยงาม รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเคร่งครัด รักษาความสุภาพทั้งบทร้องและเจรจา เพราะฉะนั้น เพลงร้อง เพลงดนตรี จึงต้องดำเนินจังหวะค่อนข้างช้า เพื่อให้รำได้อ่อนช้อยสวยงามดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นวงเครื่องห้า เครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ ตัวพระบางตัวจะสวมศีรษะด้วยปันจุเหร็จในบางตอน การเล่นตลกจึงเกือบจะไม่มีเลย บทที่แต่งใช้ถ้อยคำสุภาพ คำตลาดจะมีบ้างก็ในตอนที่กล่าวถึงพลเมือง ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน ตัวประกอบอาจเป็นผู้ชายบ้าง เรื่องที่ใช้แสดงละครใน แต่โบราณมีเพียง 3 เรื่อง คือ เรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท

ละครพันทางเป็นละครแบบผสม ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงปรับปรุงการแสดงขึ้น มีลักษณะดังต่อไปนี้ ละครพันทางเป็นละครที่แสดงบนเวทีเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง เรื่องตอนนั้นเป็นสถานที่ใด สวน ท้องพระโรง ห้องนอน หรือที่ใด ก็เขียนและจัดให้เป็นสถานที่นั้น มักจะแสดงเป็นเรื่องของต่างภาษา เช่น พม่า ลาว แขก จีน ท่ารำก็เป็นท่ารำของชาตินั้นๆ ผสมกับท่ารำของไทย เพลงร้อง เพลงดนตรี การแสดง มีทั้งต้นเสียง ลูกคู่ เป็นผู้ร้อง บางตอนตัวละครก็ร้องเอง เรื่องที่แสดง มักนิยมแสดงเรืองต่างภาษา เช่นเรื่องราชาธิราช พระลอ และสามก๊ก เรื่องที่เป็นไทยก็มีจำพวกเรื่องพระราชพงศาวดารบางตอน

ละครดึกดำบรรพ์เป็นละครที่นำแบบโอเปร่ามาใช้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เป็นผู้ทรงปรับปรุงขึ้น เพื่อให้คณะละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) แสดง ละครดึกดำบรรพ์ มีลักษณะการแสดงแสดงบนเวที เปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับละครพันทาง ท่ารำใช้ท่ารำตามแบบแผน แต่ตัดทอนเพิ่มเติมและดัดแปลงให้พอเหมาะกับเพลงร้องและเพลงดนตรี เพลงร้องและเพลงดนตรี ใช้เพลงไทยของเก่า การแสดง ผู้แสดงเป็นผู้ร้องในบทของตนเอง เพราะบทร้องเป็นบทคำพูดของตัวละครไม่มีบทบอกชื่อบอกกิริยาของตัวละคร ดนตรี เป็นวงปี่พาทย์ที่ปรับปรุงขึ้นเป็นพิเศษ มีแต่เครื่องดนตรีที่เสียงทุ้มนุ่มนวล ไม่มีพวกเสียงดังเสียงสูง เสียงเล็กแหลม เรื่องที่ใช้แสดงเช่น เช่น คาวี สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย มณีพิชัย และอิเหนา