งิ้ว

งิ้ว หรือ อุปรากรจีน เป็นการแสดงที่ผสมผสานการขับร้องและการเจรจาประกอบกับลีลาท่าทางของนักแสดงให้ออกเป็นเรื่องราว โดยสมัยนั้นได้นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นบทแสดง รวมทั้งยังมีการนำเอาความเชื่อทางประเพณีและศาสนาเข้าไปผสมผสานกับการแสดงงิ้วด้วย เดิมประเทศจีนมีงิ้วราว 300 กว่าประเภทส่วนใหญ่จะเป็นงิ้วท้องถิ่น ส่วนงิ้วระดับประเทศ เช่น งิ้วปักกิ่ง, งิ้วเส้าซิง, งิ้วเหอหนัน และงิ้วกวางตุ้ง โดยงิ้วปักกิ่งเป็นงิ้วที่มีชื่อเสียงมากที่สุด

งิ้วได้รับการยอมรับจากองค์การยูเนสโก และยกระดับงิ้วให้เป็นมรดกโลก

ประเภทของงิ้วที่แสดงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ งิ้วหลวงกับ งิ้วท้องถิ่น

งิ้วหลวง คือ งิ้วประจำชาติของประเทศจีน มีวิวัฒนาการมาจากงิ้วที่เคยจัดแสดงในราชสำนักของจีนเรียกกันว่าจิงจวี้หรือ กั๋วจวี้ ซึ่งจะเป็นงิ้วที่มีมาตรฐาน และเน้นความถูกต้องในศิลปะการแสดงของตัวละครทุกๆตัว ไม่ว่าจะเป็นลีลาการร่ายรำ ท่วงทำนอง เสียงดนตรีประกอบเรื่อยไปจนถึงการแต่งกายและการแต่งหน้าของตัวละคร ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวนี้เองที่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกาย วัฒนธรรมจารีตประเพณีดั้งเดิมของชาวจีนในยุคโบราณได้อย่างชัดเจน

งิ้วท้องถิ่น คือ งิ้วที่เจริญขึ้นในมณฑลหรือเขตหนึ่งๆ โดยมีวิวัฒนาการจากการละเล่นพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้น เกิดขึ้นในแต่ละมณฑล โดยจะไม่เคร่งครัดเรื่องการแต่งกาย ภาษาที่ร้องก็จะเป็นภาษาถิ่น จึงมีชื่อเรียกต่างๆกันออกไป เช่นงิ้วแต้จิ๋ว งิ้วฮกเกี้ยน งิ้วกวางตุ้ง งิ้วไหหลำ เป็นต้น แบบแผนของงิ้วท้องถิ่นจึงดูไม่เคร่งครัดสักเท่าไหร่นัก แตกต่างไปจากงิ้วหลวง

การแสดงงิ้วก็ไม่ต่างอะไรจากละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์หรือละครเวทีที่ต้องมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงเข้ามาช่วยแต่การแสดงงิ้วยังคงรักษาจุดเด่นในการแสดงคือ การสมมติ เอาไว้ด้วยแบบแผนที่มีการกำหนดและสืบทอดกันจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ แม้การแสดงงิ้วจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์มาประกอบการแสดง แต่อุปกรณ์จะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เพื่อให้นักแสดงได้สื่อความหมายด้วยท่าทางแทนการนำของจริงมาใช้ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างนักแสดงและผู้ชม อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญในการแสดงงิ้ว

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงมีมากมายหลายอย่าง อาทิ แส้ม้า แส้ กระบอกป้ายคำสั่ง ธงรถ ขื่อคา พัดคู่ ธงกองทัพการแสดงงิ้วไม่นิยมนำอุปกรณ์ของจริงขึ้นไปใช้บนเวที เพราะสิ่งเหล่านั้นนอกจากจะทำให้ผู้ชมขาดจินตนาการตามแล้ว ยังทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของความเป็นงิ้วไปด้วย

การแสดงงิ้วตามเอกสารเก่าที่สุดที่มีการพูดถึงการแสดงงิ้ว คือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ. 2230 และมีบันทึกอีกช่วงหนึ่งเมื่อครั้งสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี ครั้งมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตล่องน้ำมายังพระนคร007 นอกจาก
ขบวนแห่จะมี โขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์แล้ว ยังมีคณะงิ้วอีก 2 ลำเรือแสดงล่องลงมาด้วยกันอีกด้วย

การแสดงงิ้วในเมืองไทยได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมัยนั้นมีทั้งคณะของทั้งไทยและจีน และยังมีการเปิดโรงเรียนสอนงิ้วและมีโรงงิ้วแสดงเป็นประจำมากมายบนถนนเยาวราช