เพลงฉ่อย

เพลงฉ่อย เป็นเพลงพื้นเมืองที่ไม่ทราบถิ่นกำเนิด มีคนร้องเล่นกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบการร้องนั้น มีแต่การปรบมือเป็นการให้ประกอบจังหวะอย่างเดียว แต่ส่วนภายหลังเขาเอา “กรับ” มาตีด้วย การแต่งตัวนั้น ชายหญิงนุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อคอไทยคอกลมกระดุม 3 เม็ด มีผ้าขาวม้าเคียนพุง ส่วนหญิงใส่เสื้อสบาย ๆ แต่มีสไบเฉียง ทุกครั้งและขาดมิได้ เวลาเขียนคิ้วใช้ผงถ่านกากมะพร้าว

เพลงฉ่อย มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า เพลงไอ้เป๋ เนื่องจากพ่อเพลงฉ่อย ยุคแรกชื่อ ตาเป๋ มี ยายมา เป็นภรรยา เริ่มแรกเพลงฉ่อย หรือ เพลงเป๋ เป็นที่นิยมในแถบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ จังหวัดใกล้เคียง ประมาณก่อนยุค พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา ส่วนครูเพลงฉ่อย ยุคแรกเริ่มก็มี ครูเปลี่ยน – ครูเป๋ – ครูฉิม – ครูศรี – ครูบุญมา – ครูบุญมี ครูเพลงเหล่านี้มีแค่ชื่อและ ตำนานส่วนประวัติไม่มีเลย

เพลงฉ่อย นี้ปรับปรุงและดัดแปลงมาจาก เพลงโคราช – เพลงเรือ และเพลงปรบไก่ เป็นต้น ก็สาเหตุเนื่องจาก เวลาปรบมือเป็นจังหวะเพลงปรบไก่ ร้องบทไหว้ครูและเกริ่นอย่างเพลงโคราช ใช้กลอนก็ใช้คล้ายกับเพลงเรือ แต่อย่างไรเพลงฉ่อย ก็น่าจะอยู่ในยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5 มักนิยมเล่นในงานเทศกาล หรืองานรื่นเริงของหมู่บ้าน ในวงการมหรสพต่าง ๆเช่น งานปีใหม่ ทอดกฐิน

เอกลักษณ์เพลงฉ่อยบางส่วน ทางจังหวัดอุทัยธานี – จังหวัดนครสวรรค์ รับเพลงว่า เอ่ชา เอชา เอ๊ชา ฉ่าชาเอยส่วนทาง จังหวัดอยุธยา – จังหวัดอ่างทอง – จังหวัดสุพรรณบุรี รับเพลงว่า เอ่ชา ชา ชาฉ่าชาเอย ส่วนทางใต้กรุงเทพมหานคร – จังหวัดราชบุรี รับเพลงว่า เอ่ชา เอชา ชาชาฉ่าชา หนอยแม

วิธีเล่นเพลงฉ่อยผู้แสดง แบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง มีพ่อเพลงและแม่เพลง เริ่มด้วยการไหว้ครู ใช้กลอนเพลงอย่างโคราช การร้องจะมีต้นเสียงและลูกคู่ร้องรับ ดนตรีใช้การตบมือเป็นจังหวะ การเล่นเพลงฉ่อยนั้นได้แยกแยะวิธีการเล่นออกไปอีกหลายอย่างโดยคิดผูกเป็นเรื่องสมมติขึ้นเพี่อหาทางใช้วาทศิลป์ได้แปลก ๆ เช่น ชุดสู่ขอ ลักหาพาหนี ตีหมากผัว และเชิงชู้เป็นต้น<