ยอดนักมายากลแห่งมหาสมุทร

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้คือสัตว์ทะเลที่มีหัวใจสามดวง มีเลือดสีน้ำเงิน ใช้สีในการสื่อสาร มีแรงดันเจ็ทในการเคลื่อน ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างร่างกายได้ทุกแบบตามที่ต้องการ มีหนวดแปดเส้นพร้อมทั้งปุ่มดูดเพื่อยึดจับสิ่งต่างๆ จนได้ชื่อว่า “ยอดนักมายากลแห่งมหาสมุทร” สัตว์ชนิดนี้ก็คือ เจ้าหมึกยักษ์ หมึกหอม และหมึกกระดองนั่นเอง ที่มาของฉายาที่ได้รับมานั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากความสามารถในการพรางตัวและการหลบหนีจากศัตรู

หมึกสามารถพ่นน้ำหมึกออกมาจากร่างกายได้ เพื่อใช้เป็นม่านในการหลอกล่อศัตรูก่อนที่จะหนีไป หากว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลหมึกยักษ์จะใช้วิธีช็อก ซึ่งก็คือการเปลี่ยนตัวเองเป็นสีขาวเผือด พร้อมทั้งพ่นหมึกอีกครั้ง โดยที่หมึกที่พ่นออกมานั้นไม่ได้เป็นเพียงอาวุธพรางตา แต่ยังมีรสชาติแย่เพียงพอที่จะทำให้เหล่านักล่าต้องล้มเลิกความคิดที่จะกินพวกมันไปได้เลย

หากว่าไม่มีทางเลี่ยงอื่นแล้ว หมึกยักษ์ก็ยังมีร่างกายที่ยืดหยุ่นจนสามารถบีบรูปร่างและเข้าไปยังสถานที่ที่คาดไม่ถึงได้ เช่น ปากขวดเบียร์ ซึ่งอันที่จริง หมึกยักษ์สามารถบีบตัวให้เล็กลงให้เท่ากับขนาดขากรรไกรที่แข็งแกร่งของมันได้อย่างง่ายดายนอกจากนี้ดวงตาของมันยังมองเห็นได้ดีเท่ากับมนุษย์ หากแต่ว่า ประสาทสัมผัสที่สำคัญที่สุดของหมึกยักษ์นั้นกลับเป็นการสัมผัส ด้วยปุ่มดูดกว่า 1,600 ปุ่มที่ล้วนไวต่อความรู้สึกเช่นเดียวกับลิ้นของมนุษย์ ทั้งนี้ปุ่มดูดแต่ละปุ่มจะมีเซลล์สามชนิดด้วยกัน บางชนิดก็ใช้เพื่อรับแรงดึงและแรงดัน แต่ส่วนใหญ่มีไว้เพื่อตรวจจับสารเคมีซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับต่อมรับรสของเรา เซลล์ที่ไวต่อรสชาติเหล่านี้ มีขนเส้นเล็กภายในที่แกว่งในน้ำ แล้วรับเอาสารเคมีที่มีรสชาติเข้ามา ที่ปุ่มดูดแต่ละปุ่มจะมีเซลล์รับรสประมาณ 10,000 เซลล์ ซึ่งหมายความว่าหนวดทุกเส้นของหมึกยักษ์มีมากกว่า 2 ล้านเซลล์ รวมแล้ว หมึกยักษ์มีเซลล์เส้นประสาทและเส้นประสาทในร่างกายมากยิ่งกว่าในสมองเสียอีก

ทั้งๆ ที่หมึกยักษ์มีระบบประสาทที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่หมึกยักษ์นั้นกลับเป็นญาติสนิทของสัตว์ที่ดูเหมือนจะไร้ซึ่งประสาทสัมผัสที่สุดในธรรมชาติ เช่น หอยกาบ หอยแครง หอยทาก และทากทะเล ซึ่งเหล่าหมึกยักษ์ หมึกหอม และหมึกกระดอง รวมถึงหอยกาบนั้นมีบรรพบุรุษเดียวกัน นั่นก็คือ “หอยฝาชี (Limpet)”

  

หมึกหอมนั้นจะมีลักษณะที่คล้ายปลามากกว่าญาติของพวกมัน และมีพละกำลังแข็งแรงกว่าหมึกยักษ์ และหมึกกระดอง ร่างกายที่มีรูปทรงตอร์ปิโดของมันเปี่ยมไปด้วยกล้ามเนื้อ และสามารถว่ายน้ำได้เร็วกว่าการบินของนกบางชนิดเสียอีก มีหนวด 8 เส้นเพื่อการจับเหยื่อ แต่จะมีหนวดดักเหยื่อที่ยาวเป็นพิเศษอีก 2 เส้น

หมึกหอมมีครีบสามเหลี่ยมเพื่อช่วยรักษาสมดุลและบังคับทิศทาง ซึ่งเป็นการวิวัฒนาการมาจากเปลือกภายในของเบเล็มไนท์ (Belemnite) บรรพบุรุษของเหล่าหมึกหอมทุกชนิด

ขณะนี้ หมึกยักษ์กำลังเป็นที่สนใจของเหล่านักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาวิธีการเรียนรู้และพฤติกรรมของพวกมันจากข้อสังเกตวิธีการของหมึกยักษ์ในการหลบหนีนักล่า เมื่อพวกมันเข้าไปในโพรง หมึกยักษ์จะดึงเอาก้อนหินและวัสดุอื่นๆ มาเพื่อปิดทางเข้าและทำให้ตัวเองปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าเป็นความเฉลียวฉลาดของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้รวมถึงพฤติกรรมอันซับซ้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจดจำทิศทางได้เป็นอย่างดีหรือการสื่อสารของเหล่าหมึกใช้ ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษากันอยู่อย่างจริงจัง

หมึกกระดองมีการสื่อสารที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพเปรียบได้กับเชคสเปียร์แห่งท้องทะเล เพียงแต่พวกมันไม่ได้สื่อสารด้วยคำพูด หากแต่ด้วยรูปแบบ และลวดลาย ซึ่งหมึกหอมและหมึกยักษ์ก็ทำได้เช่นเดียวกัน โดยมีสมองเป็นตัวสั่งการในการคิดรูปแบบที่จะปรากฏบนร่างกาย ส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาท ไปยังส่วนที่เรียกว่า “โครมาโตฟอร์ (Chromatophores)” เม็ดสีขนาดจิ๋วที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง แล้วสิ่งนี้ก็จะทำให้เกิดลายจุดขึ้นบนร่างด้วยเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่า “ลิวโคฟอร์ (Leucophore)”

ซึ่งสิ่งนี้ก็คือวิธีการสื่อสารที่เหล่าหมึกใช้ ทั้งเพื่อขับไล่ตัวอื่นๆ ในการจับคู่, ส่งสัญญาณหากันและกัน นอกจากนี้ยังใช้วิธีเดียวกันนี้กับเหยื่ออีกด้วย แต่พวกมันใช้เพื่อเหตุผลใดนั้นยังเป็นปริศนา เฉกเช่นเดียวกับการพิสูจน์ว่า หมึกมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดจริงหรือ ?

(496)

ใส่ความเห็น