นกยูงสีเขียว: Green Peafow

นกยูงไทย หรือ นกยูงสีเขียว: Green Peafow ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo muticus มาจากภาษาละติน Pavo, นกยูง; muticus, เชื่อมต่อ หรือ ตัดทอน) เป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ที่พบในป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นญาติใกล้ชิดกับนกยูงอินเดียหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านกยูงสีฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo cristatus) ที่ส่วนมากพบในอนุทวีปอินเดีย

 

เป็นนกจำพวกไก่ฟ้าขนาดใหญ่ นกตัวผู้อาจยาวได้ถึง 3 เมตรเมื่อรวมหาง อาจหนักถึง 5 กก. ตัวเมียยาว 1.1 เมตร หนักประมาณ 1.1 กก. ช่วงปีกกว้าง 1.2 เมตร นกตัวผู้ยังมีหงอนเป็นพู่สูงและมีแผ่นหนังที่หน้าสีฟ้าสลับสีเหลืองเห็นได้ ชัดเจน ขนลำตัวมีสีเขียวเป็นประกายแววเหลือบสีน้ำเงินบนปีกและสีทองแดงทางด้านข้าง ลำตัวดูเป็นลายเกล็ดแพรวพราวไปทั้งตัว ขนปีกบินสีน้ำตาลแดง ขนคลุมโคนหางยื่นยาวออกมาก มีสีเขียวและมีจุดดวงตากลมที่ขลิบด้วยสีฟ้าและสีน้ำเงิน

นกตัวเมียลักษณะโดยทั่วไปคล้ายนกตัวผู้ แต่ขนสีเหลือบเขียวน้อยกว่าและมีประสีน้ำตาลเหลืองอยู่ทั่วไป ขนคลุมโคนหางไม่ยื่นยาวดังเช่นในนกตัวผู้ นกยูงไทยบินได้เก่งกว่านกยูงอินเดีย

นกยูงมีการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนจนถึงลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียตะวันตก และเกาะชวา ในประเทศไทยพบในภาคเหนือและภาคตะวันตก

 

<------------->

<------------->

 

นกยูงไทยพบได้ในถิ่นอาศัยหลากหลายไม่ว่าจะเป็นป่าเก่าหรือป่าปลูกในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ทั้งพบได้ในป่าไผ่ ทุ่งหญ้า เช่นกัน ในเวียดนามพบนกอาศัยอยู่ป่าแล้งผลัดใบใกล้แหล่งน้ำและห่างจากการรบกวนของมนุษย์ แหล่งน้ำนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญของถิ่นอาศัย

 

ออกหากินตามหาดทรายและสันทรายริมลำธารในตอนเช้าตรู่จนกระทั่งถึง ตอนบ่ายกินทั้งเมล็ดพืชและสัตว์เล็กๆ แล้วจึงบินกลับมาเกาะนอนอยู่บนยอดไม้สูง ปกติอยู่เป็นฝูงเล็กๆ 2-6 ตัว ยกเว้นในบางบริเวณเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี พบนกยูงอยู่รวมกันเป็นฝูงถึง 10 ตัว

 

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายน ขนคลุมโคนหางของนกตัวผู้จะเจริญเต็มที่ในเดือนตุลาคม และจะผลัดขนนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ วางไข่ครั้งละ 3 – 6 ฟอง เริ่มฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว โดยใช้เวลาฟักทั้งสิ้น 26 – 28 วัน ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยคลุมทั่วตัว สามารถยืนและเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันทีที่ขนแห้ง โดยลูกนกจะตามแม่ไปหากินไม่น้อยกว่า 6 เดือน จากนั้นจึงหากินตามลำพัง

(396)

ใส่ความเห็น