Tridacna โรงงานกำจัดของเสียใต้ทะเล

หอยมือเสือ คือหอยสองฝาขนาดใหญ่ มีพฤติกรรมต่างจากหอยจำพวกอื่นตรงที่เปลือกด้านบนจะเปิดออกเพื่อแผ่ส่วนแมนเทิล ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อออกมารับแสง โดยส่วนเนื้อเยื่อจะมีสาหร่ายซูแซนเทลลี จำพวกไดโนแฟลกเจลเลต อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นการพึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยสาหร่ายได้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียที่หอยมือเสือปล่อยออกมา ส่วนหอยมือเสือจะได้รับสารอาหารจากสาหร่ายบางส่วน

ดังนั้นจะพบว่าหอยมือเสือจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำใส ไม่เกิน 20 เมตร มีแสงสว่างส่องถึง รวมถึงสีสันของหอยมือเสือที่เห็นเป็นสีเขียว สีน้ำเงินก็ได้มาจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย ตรงรอยต่อของฝาหอยเป็นบานพับ มีส่วนช่อง สำหรับเนื้อเยื้อบิสซัส ซึ่งทำหน้าที่ยื่นออกมาเกาะติดเชื่อมต่อตัวหอยกับวัตถุใต้น้ำ

โดยกระบวนการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายซูแซนเทลลีจะดูดซับเอาสารต่าง ๆ รวมทั้งของเสียจากการขับถ่ายจากสัตว์อื่นเข้ามาสังเคราะห์เป็นอาหารและพลังงาน หอยมือเสือจึงเป็นเสมือนโรงงานกำจัดของเสีย รวมถึงการที่หอยมือเสือกรองกินอาหารที่ลอยมาตามน้ำ ดูดกรองฝุ่นตะกอนเหล่านั้นไว้ ทำให้น้ำในบริเวณนั้นใสสะอาด ช่วยให้ระบบนิเวศน์ของทะเลดีตามไปด้วย

พวกมันมีสองเพศในตัวเดียว โดยไม่สามารถระบุเพศได้จนอายุ 2 ปีขึ้นไป จะเป็นตัวผู้และสร้างน้ำเชื้อ และเมื่ออายุราว 4 ปีครึ่ง จะเปลี่ยนเป็นตัวเมียและเริ่มสร้างไข่เพื่อสืบพันธุ์ ในเขตร้อนพวกมันจะผสมพันธุ์ได้ทั้งปี ส่วนในเขตอบอุ่นจะผสมพันธุ์แค่ช่วงฤดูร้อนเท่านั้น

  doxzilla  

หอยมือเสือจัดเป็นหอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาจมีความยาวเปลือกได้ถึง 100-120 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัม ซึ่งมีอายุได้ยาวนานถึง 100 ปีหรือมากกว่านั้น ขนาดที่เล็กที่สุดมีขนาด 15 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในเขตน้ำตื้นตามแนวปะการังของน่านน้ำแถบอินโด-แปซิฟิก ในอดีตเคยมีความเชื่อว่า พวกมันสามารถงับแขนมนุษย์ได้ แต่จากการศึกษาพฤติกรรมพบว่าการเปิดปิดฝาหอยค่อนข้างเชื่องช้า อีกทั้งมนุษย์ไม่ใช่อาหารตามธรรมชาติของพวกมันด้วย

หอยมือเสือคือ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ เนื้อนำมาทำเป็นอาหาร เปลือกใช้ทำเครื่องใช้, เครื่องประดับ รวมทั้งไข่มุก ซึ่งมีราคาแพงกว่ามุกของหอยชนิดอื่น เนื่องจากมีขนาดใหญ่และหายากมาก ส่วนหอยตัวเล็กนำมาเลี้ยงในตู้ปลา การใช้ประโยชน์ที่มากเกินไปทำให้ธรรมชาติสร้างมาทดแทนไม่ทัน จนกระทั่งพวกมันอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ในบางชนิด ในบางพื้นที่ก็ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

(4152)