Orangutan ลิงพื้นเมืองในเกาะของอินโด

อุรังอุตัง คือสัตว์พื้นเมืองของเกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย โดยคำว่า อุรังอุตัง มาจากคำว่า โอรังฮูตัน ในภาษามลายู-อินโดนีเซีย หมายถึง “คนป่า”

พวกมันแบ่งออกได้ 3 ชนิดพันธุ์คือ อุรังอุตังสุมาตรา, อุรังอุตังบอร์เนียว, อุรังอุตังตาปานูลี ซึ่งในสายพันธุ์อุรังอุตังตาปานูลี เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แยกออกจากอุรังอุตังสุมาตรา หลังจากที่ได้มีการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่า ลักษณะฟันและกระดูกกะโหลกแตกต่างกัน

พวกมันมีรูปร่างที่ใหญ่ หูมีขนาดเล็ก แขนขายาวและไม่มีหาง มีขนหยาบสีแดงดูรุงรัง เมื่อโตขึ้นกระพุ้งแก้มจะห้อยเป็นถุงขนาดใหญ่ ตัวผู้มีน้ำหนักได้ถึง 75-200 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักราว 50-80 กิโลกรัม

พวกมันมีพฤติกรรมชอบห้อยโหนอยู่บนต้นไม้ จากกิ่งหนึ่งไปสู่อีกกิ่งหนึ่ง รวมถึงมีการสร้างรังนอนแบบเดียวกับลิงชิมแปนซี นอกจากนี้พวกมันมักอยู่อย่างสันโดษ เว้นแต่ช่วงฤดูผสมพันธุ์จะอยู่เป็นคู่ อุรังอุตังเป็นสัตว์ที่เชื่อง และฝึกหัดได้ง่าย แต่เมื่อเจริญเติบโตพวกมันจะดุมาก โดยอาหารหลักของพวกมันคือ ผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะทุเรียน สัตว์จำพวกแมลง ไข่นกและสัตว์เล็กอื่นๆ

ปัจจุบันลิงอุรังอุตังกลายเป็นสัตว์หายาก และใกล้สูญพันธุ์ ด้วยถูกล่าและถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่ จากการตัดไม้ทำลายป่า ทำเหมือง โรงงาน ฯ จากรายงานพบว่า ลิงอุรังอุตังถูกฆ่ามากกว่า 1 แสนตัว ภายในระยะเวลา 16 ปี

  doxzilla  

โดยเกิดจากถูกฆ่าเพื่อนำมาบริโภค บางส่วนถูกฆ่าเนื่องจากคุกคามพืชไร่ของชาวสวนในบริเวณนั้น และบางส่วนถูกฆ่าจากการปกป้องลูก ด้วยลูกอุรังอุตังนั้นมีหน้าตาน่ารัก ดูไร้เดียงสา เห็นแล้วอาจทำให้ใจละลายได้ จึงมีการลักลอบค้าขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งการที่จะนำลูกของมันออกมาได้นั้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การฆ่าแม่ลิงซะ

ลูกลิงที่ถูกช่วยเหลือจากการลักลอบจะถูกส่งต่อไปยังศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่าหลายแห่ง ซึ่งเวลาที่ผ่านมาได้มีลูกลิงเข้ามาอยู่ในศูนย์พักฟื้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าการลักลอบล่าสัตว์เป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งแม้ศาสตราจารย์เซิร์จ วิช จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มูเรส ประเทศอังกฤษ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยจะเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียออกคำประกาศต่อต้านการจงใจฆ่าอุรังอุตังก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีคำประกาศหรือกฏหมายออกมา

นอกจากนี้ การทำงานของทีมวิจัยได้ชี้ชัดให้เห็นว่า ยังมีคนที่แสวงหาผลประโยชน์แบบไม่ยั่งยืนอยู่ โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุให้ลิงอุรังอุตังลดจำนวนลงไปกว่า 45,000 ตัว ภายใน 35 ปีข้างหน้า หากยังไม่รักษาและดูแล ในอนาคตลิงอุรังอุตังอาจจะเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปก็ได้

(517)