Mekong giant catfish ราชินีแห่งแม่น้ำโขง

ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการกระจายพันธุ์อยู่ในแม่น้ำของประเทศจีน ลาว พม่า และไทย แต่จะไม่พบที่ตอนปลายน้ำโขง เนื่องจากเป็นเขตน้ำกร่อย พวกมันเป็นปลาที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกจับมากเกินไป และคุณภาพน้ำที่ย่ำแย่ลงจากการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ

ปลาบึกอยู่ในสกุล Pangasianodon พวกมันไม่มีเกล็ด ไม่มีฟันและเกือบจะไม่มีหนวด ในช่วงวัยอ่อนมีฟันและกินปลาชนิดอื่นเป็นอาหาร แต่เมื่อโตขึ้นฟันจะหลุดไป พวกมันมีตาอยู่ต่ำกว่ามุมปาก แสดงถึงลักษณะการหากินตามพื้นน้ำ มีซี่กรองเหงือกเล็กและปลายถุงลมลงมาถึงบริเวณช่วงท้องไม่เกินครีบก้น สามารถโตได้ถึง 3 เมตรและหนักได้ถึง 150-200 กิโลกรัม ภายใน 5 ปี

ในธรรมชาติ พวกมันกินพืชชนิดต่างๆ เช่น ตะไคร่น้ำ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงก็สามารถทานอย่างอื่นได้ โดยปลาบึกขนาดใหญ่จะไม่มีการเพาะเลี้ยง จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดขนาดของปลาได้ อีกทั้งยังถูกกำหนดให้จับเป็นช่วงเวลาและปริมาณที่เหมาะสมอย่างชัดเจน ซึ่งแม้มีการผสมเทียมและสามารถเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ แต่เมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณนึง จะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นเหตุให้ปลาชนิดนี้มีราคาแพง

  

เชื่อกันว่า เมื่อได้รับประทานปลาบึกแล้วจะมีอายุยืนยาว ในบางพื้นที่มีความนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยพวกมันได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งแม่น้ำโขง” หรือ “ไตรราช” ส่วนชาวจีนจะเรียกว่า “ปลาขงเบ้ง” ด้วยมีเรื่องปรัมปราเล่าว่า กองทัพลงใต้ของขงเบ้งขาดเสบียง จึงอธิษฐานแล้วโยนกุนเชียงลงในน้ำกลายเป็นปลาขนาดใหญ่เพื่อมาเป็นเสบียงของกองทัพ และปลาชนิดนั้นก็คือ ปลาบึก นั่นเอง

(4813)