Meganeura แมลงปอยักษ์ปลายยุคคาร์บอนิเฟอรัส

ย้อนไปราว 300 ล้านปี ช่วงปลายยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous period) ในพื้นที่ป่าเขตร้อนได้เคยเป็นที่อยู่ของแมลงปอขนาดยักษ์ ที่มีชื่อว่า เมกานิวร่า (Meganeura) แมลงปอซึ่งมีขนาดความยาวระหว่างปลายปีก 65-70 เซนติเมตร ด้วยในยุคนั้นเต็มไปด้วยป่าไม้ปกคลุมทั่วแผ่นดินทวีป ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ ทำให้ระดับออกซิเจนมีความเข้มข้นมากกว่า 20% จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจึงเจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่โต

โดยซากฟอสซิลของพวกมันถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1880 ในเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส หลังจากทำการศึกษา Charles Brongniart นักบรรพชีวินวิทยาได้ตั้งชื่อ ฟอสซิลแมลงดึกดำบรรพ์ตัวนี้ว่า Meganeura อันมีความหมายว่า “เจ้าแห่งลายเส้น” (large-nerved) ซึ่งคงหมายถึงลายเส้นบนปีกของมันนั่นเอง

ลักษณะกายภาพทั่วไปของพวกมันมีความคล้ายกับแมลงปอในปัจจุบัน ดวงตาหมุนได้รอบทิศ สามารถจับความเคลื่อนไหวของเหยื่อได้อย่างแม่นยำ ปีกกว้างสามารถกระพือได้ด้วยความเร็วสูงและควบคุมทิศทางได้ดี ส่วนขามีความแข็งแรงมากกว่าแมลงปอในปัจจุบันมาก สามารถตะครุบเหยื่อขึ้นมากัดกินในระหว่างบินได้อย่างง่ายดาย

  doxzilla  

ตัวอ่อนของพวกมัน มีระยะการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์คล้ายกับญาติโบราณของมันคือ แมลงสโตนฟลาย โดยเมื่อฟักออกจากไข่เป็นตัวอ่อนแล้ว จะมีรูปร่างคล้ายพ่อแม่แค่ไม่มีปีก มันจะเติบโตขึ้นโดยการลอกคราบหลายต่อหลายครั้ง จนเมื่อโตเต็มวัย 2 คู่ปีกจึงปรากฏออกมา นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่า ปีกของพวกมันได้พัฒนาจากแผ่นเหงือกบนขา ซึ่งช่วยให้หายใจในน้ำได้ โดยพวกมันน่าจะยกแผ่นเหงือกขึ้นคล้ายใบเรือ ใช้สำหรับการแล่นลมแฉลบเหนือผิวน้ำได้อย่างสโตนฟลาย

รวมถึงมีการเสนอข้อสมมติฐานว่า การสูญพันธุ์ของพวกมันคงมีความเกี่ยวข้องกับจำนวนออกซิเจนที่ลดลง เนื่องจากออกซิเจนมีความเกี่ยวข้องกับระบบการหายใจ เมื่อระดับความเข้มข้นของออกซิเจนลดลง พวกมันจึงค่อยๆสูญพันธุ์ไปในที่สุด

(4084)