Mandalay Palace พระราชวังไม้สักในมัณฑะเลย์

หากจะพูดถึงพระราชวังที่มีความงดงามในโบราณกาล ในบริเวณเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในสถานที่ที่ใครหลายคนนึกถึงคงจะเป็น “พระราชวังมัณฑะเลย์” พระราชวังในประเทศเมียนมา และเป็นพระราชวังสุดท้ายแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเมียนมา

พระราชวังมัณฑะเลย์ ถูกก่อสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้ามินดง ในระหว่างปี ค.ศ. 1857-ค.ศ. 1859 หลังจากมีการย้ายเมืองหลวงจากเมืองอมระปุระมายังเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อหนีทหารของจักรวรรดิอังกฤษ ช่วงระหว่างสงครามพม่า-อังกฤษ ตามความเชื่อ เพื่อเป็นการถือฤกษ์เอาชัยแก้เคล็ดว่าจะสามารถชนะกองทัพอังกฤษได้ และได้สถาปนาเป็น “เมืองทอง” แห่งการเผยแพร่พระพุทธศาสนาขึ้น

พระราชวังแห่งนี้ถูกสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีคูน้ำรอบพระราชวังและประตูขนาดใหญ่ ซึ่งถูกออกแบบสร้างตามความเชื่อของพราหมณ์ โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาล โดยบริเวณพระราชวังแห่งนี้ก็มีสัญลักษณ์เป็นส่วนยอดปราสาทของพระที่นั่งมยีนัน สร้างจากไม้ หุ้มแผ่นทอง 7 ชั้น สูงกว่า 78 เมตร ดูสวยงาม

หลังจากสิ้นแผ่นดินของพระเจ้ามินดง ในปี 1878 พระเจ้าธีบอกับพระนางสุภายาลัดทรงขึ้นครองบัลลังก์ต่อ เมืองมัณฑะเลย์ก็ได้มีปัญหาภายใน และเกิดการประหารชนชาวต่างชาติ รวมถึงการทรงโปรดฝรั่งเศสมาก ทำให้อังกฤษไม่พอใจ จึงมีการจัดทัพบุก เข้ายึดเป็นอาณานิคม ในปี ค.ศ. 1885 พระเจ้าธีบอและพระนางสุภายาลัดถูกเชิญเสด็จออกนอกประเทศ ผ่านทางพระตูผีแล้ว นั่งเกวียนลงเรือต่อไปพำนักที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย

  

ส่วนตัวเมืองมัณฑะเลย์ก็ถูกลดให้เป็นเมืองอาณานิคมที่อังกฤษตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ฟอร์ตดัฟเฟอริน แต่ก็ไม่มีใครเรียกชื่อนั้น จากนั้นในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1945 ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโดยกองทัพอังกฤษ ได้ทิ้งระเบิดลงถล่มพระราชวังมัณฑะเลย์ ด้วยเหตุผลว่า พระราชวังเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของญี่ปุ่น ทำให้พระราชวังไม้สักทั้งหลังไหม้เป็นจุล หลงเหลือเพียงป้อมปราการและคูน้ำรอบพระราชวัง

ปัจจุบันพระราชวังได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ โดยรัฐบาลเมียนม่า ซึ่งมีการลอกรูปแบบโครงสร้างเดิม แม้จะมีรายละเอียดไม่งดงามเท่าในสมัยอดีต แต่สถานที่แห่งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และสถาปัตยกรรมที่สวยงามของเมียนม่า และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของมัณฑะเลย์

และหากใครต้องการที่จะเห็นงานแกะสลักไม้ที่วิจิตรงดงาม ศิลปะดั่งเดิมของเมียนมา สามารถเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมตำหนักทอง ตำหนักของพระเจ้ามินดง ที่พระเจ้าธีปอถวายวัดชเวนันดอว์ (วัดตำหนักทอง) ไว้ได้ ซึ่งถือได้ว่าตำหนักแห่งนี้เป็นตำหนักสุดท้ายของพระราชวังมัณฑะเลย์ที่หลงเหลืออยู่

(1798)