Javan Rhinoceros เหลืออยู่ถิ่นเดียว

แรดชวา, ระมาด หรือ แรดซุนดา คือชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในวงศ์แรด เคยกระจายพันธุ์ในบริเวณกว้าง ตั้งแต่เกาะอินโดนีเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียและจีน ปรากฏตัวครั้งแรกในบันทึกซากดึกดำบรรพ์ในเอเชียประมาณ 3.3-1.6 ล้านปีมาแล้ว ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ในป่าเพียงแห่งเดียวคืออุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนบนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรแรดน้อยกว่า 40-50 ตัว หลังจากแรดชวาในอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียน ประเทศเวียดนาม สูญพันธุ์ไปเมื่อปี 2554

แรดชวามีอายุประมาณ 30-45 ปี อาศัยอยู่ในป่าดินชื้น ป่าหญ้าชื้นแฉะและลุ่มน้ำขนาดใหญ่ โดยกินหน่อไม้ ใบไม้อ่อน ยอดไม้ ตาไม้ และผลไม้สุกที่ร่วงลงตามพื้น พวกมันเป็นสัตว์สันโดษ ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์และเลี้ยงลูก บางครั้งรวมฝูงกันเพื่อแช่ปลักโคลนหรือกินโป่ง

พวกมันมีขนาดยาว 3.1–3.2 เมตร สูง 1.4–1.7 เมตร เมื่อโตเต็มที่หนัก 900-2,300 กิโลกรัม ตัวเมียอาจใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย แรดชวามีนอเดียวเหมือนแรดอินเดีย จึงได้อีกชื่อว่า แรดนอเดียว ปกติมีขนาดยาวน้อยกว่า 20 เซนติเมตร แต่มีการบันทึกนอที่ยาวที่สุดยาว 27 เซนติเมตร ใช้สำหรับการขุดโคลน ดันต้นไม้ลงเพื่อกิน และดันสิ่งกีดขวาง

  

แรดชวามีปากแหลม ฟันล่างยาวคม เมื่อเกิดการต่อสู้จะใช้ฟันนี้กัด หลังฟันหน้าเป็นกรามสองแถวเตี้ยใช้สำหรับการเคี้ยวพืชหยาบๆ พวกมันมีประสาทการดมกลิ่นและการฟังเสียงที่ดี แต่สายตาแย่ พวกมันไม่มีขนแต่มีหนังสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีรอยพับที่ไหล่ หลังขาหน้า และสะโพก ทำให้ดูคล้ายกับสวมเกราะ มีรอยพับคล้ายอานม้าปกคลุมอยู่ที่ไหล่ ง่ามก้นไม่เป็นร่อง หางจังโด่งผิดกับพันธ์อื่น

แรดชวาตัวเมียจะตั้งท้องประมาณ 16-19 เดือน ให้กำเนิดลูกห่างกัน 4-5 ปี พวกมันจะอยู่กับแม่จนถึง 2 ปี แรดชวาไม่มีศัตรูทางธรรมชาติ ยกเว้นเพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่ล่าแรดเพื่อเอานอ ในการแพทย์แผนจีนนอมีราคา 30,000 ดอลล่าสหรัฐ ต่อกิโลกรัม และเนื่องจากแรดชวาเป็นแรดที่ไม่มีในสวนสัตว์ จะอยู่แค่ในป่าทำให้การศึกษาขั้นต้นทำได้เพียงศึกษาจากมูลตัวอย่างและกับดักกล้องเท่านั้น

(1233)