Holi ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายด้วยการสาดสี

เทศกาลโฮลีนั้น คือเทศกาลที่ถูกจัดขึ้น 2 วันในช่วงเดือนมีนาคม (แรม 1 เดือน 4) โดยคำว่า “โฮลี” หมายถึง “การสิ้นสุดของปีเก่า” เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่มีพื้นเพเดิมมาจากความเชื่อในศาสนาฮินดู

เทศกาลนี้ถูกเรียกอีกอย่างว่า “เทศกาลแห่งสีสัน” จากการที่ผู้คนออกมาเฉลิมฉลองด้วยการสาดสีหรือป้ายสีใส่กัน โดยผงฝุ่นสีจะมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น อันเป็นนัยบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวและการเข้าสู่ฤดูใบไม้พลิ

โฮลีจะถูกจัดในประเทศอินเดียและเนปาลเป็นหลัก แต่จะมีการเฉลิมฉลองในชาวฮินดูกลุ่มน้อยในบังกลาเทศและปากีสถาน รวมถึงประเทศที่มีประชาชนเชื้อสายอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูด้วย

การสาดสีนั้น เชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย มีปกรณัมมากมายเกี่ยวกับที่มาของเทศกาลแต่ที่เชื่อกันมากที่สุด คือการเฉลิมฉลองที่ที่พระวิษณุเอาชนะนางมารโฮลิกะ ผู้เป็นน้องสาวของของหิรัณยกศิปุ ที่ดูหมิ่นผู้ที่นับถือพระองค์ เป็นเหตุให้นางมารถูกเผาจนมอดไหม้ ก่อนวันงานสาดสีจึงมีการก่อกองไฟเพื่อชำระสิ่งไม่ดีออกมาจากจิตใจ

 

<------------->

<------------->

 

การสาดสีจะเล่นกันเฉพาะช่วงเช้าถึงเที่ยงวันเท่านั้น จากนั้นผู้คนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อน พอถึงช่วงเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์ แจกขนมที่ทำขึ้นมาเพื่อรับประทานในงานโดยเฉพาะ ซึ่งทำมาจากนมและนมเปรี้ยวเป็นหลัก เชื่อกันว่า ถ้าได้รับประทานขนมด้วยจิตใจที่เบิกบาน จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการเริ่มต้นปีใหม่ และสวมกอดกัน เทศกาลนี้จึงถือเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ มิตรสหายจะได้แสดงไมตรี ผู้ที่ขัดแย้งจะได้ปรับความเข้าใจกัน

การเล่นสีจนเลอะเทอะนี้ สำหรับคนอินเดียมีนัยหมายถึง ความเข้มแข็งของมิตรภาพที่จะตราตรึงไปตลอดกาล ไม่มีวันจาง เสื้อผ้าที่ใช้เล่นกันจึงนิยมใส่สีขาว ซึ่งแม้จะเปรอะด้วยสีต่างๆ แต่พวกเขาจะไม่ทิ้งมันไป

นอกจากนี้ช่วงเย็นของวันแรกจะมีการจัดซุ้มกองไฟเพื่อทำพิธีบูชา จัดไว้สำหรับผู้หญิงที่แต่งงาน และมีบุตรชายเท่านั้น เนื่องจากการบูชานี้จะสร้างสิริมงคล เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากบุตรชาย ส่วนคู่แต่งงานใหม่ที่ยังไม่มีลูกจะได้ขอบุตรชายในเทศกาลด้วย

(306)