Great Barrier Reef แนวปะการังในประเทศออสเตรเลีย

เกรตแบร์ริเออร์รีฟ คือพื้นที่แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ด้วยความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 345,000 ตารางกิโลเมตร โดยปะการังจะเติบโตอยู่ที่ระดับความลึกราว 150 เมตร เนื่องจากหินปะการังนั้นต้องการแสงอาทิตย์และไม่สามารถเจริญเติบโตเหนือระดับน้ำทะเลได้

เชื่อกันว่า เขตแนวปะการังเขตนี้มีอายุมายาวนานมากกว่า 25 ล้านปีมาแล้ว โดยแนวปะการังของที่นี่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือแนวปะการังเหนือ, หมู่เกาะวิตซันเดย์ และแนวปะการังใต้ ประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมาย ทั้งปะการังชนิดอ่อนและชนิดแข็ง สีสันสวยงามกว่า 350 ชนิด ตลอดจนปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกราว 1,500 ชนิด

การเกิดแนวฐานของปะการังมาจากการกัดเซาะของตะกอนแนวเทือกเขากับเนินหินขนาดใหญ่ โดยทางศูนย์วิจัยแนวหินปะการังได้พบกับหินปะการังที่คล้ายโครงกระดูกอายุราว 500,000 ปี และเจ้าหน้าที่ของศูนย์เกรตแบร์ริเออร์รีฟมารีนมีแนวคิดว่า หลักฐานที่สมบูรณ์ชิ้นนี้ น่าจะเป็นโครงสร้างหินปะการังอายุราว 600,000 ปี

  

ซึ่งแนวหินปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เริ่มเกิดและเจริญเติบโตเมื่อราว 20,000 – 6,000 ปีก่อน เนื่องจาก 13,000 ปีก่อนนั้น ระดับน้ำทะเลในพื้นที่แห่งนี้สูงเพียง 60 เมตร ซึ่งต่ำกว่าน้ำทะเลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเกรตแบร์ริเออร์รีฟกำลังประสบปัญหาปะการังฟอกขาวจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของโลก

โดยการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น จนทำให้สาหร่ายที่ซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ที่เกาะอาศัยอยู่บนตัวเนื้อเยื่อของปะการังและคอยสร้างสีสันให้ปะการังนั้นผลิตพิษออกมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ เหล่าปะการังจึงจำเป็นต้องขับสาหร่ายออกจากตัวมันจนเหลือแต่เนื้อเยื่อใสๆ ติดอยู่กับโครงหินปูน ซึ่งหากอุณหภูมิของน้ำยังสูงขึ้น ปะการังเหล่านั้นจะตาย แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปะการังฟอกขาว หากแต่เคยเกิดมาแล้วในปี 1998 และ 2010 แต่ทุกอย่างก็ยังผ่านมาได้ด้วยดี

ดังนั้นการเกิดปะการังฟอกขาวในครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลของออสเตรเลียก็ได้ทุ่มทุนมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทุ่มเทให้กับแผนงานฟื้นฟูปะการังไปจนถึงปี 2050 โดยมีความหวังว่าปะการังจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งในเร็ววัน

(1447)