Cappadocia นครใต้ดินในตุรกี

แคปพาโดเชีย หรือ คัปปาโดเกีย เมืองมรดกโลกที่งดงามแห่งหนึ่งในประเทศตุรกี ตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขาไฟเอร์จีเยส (Erciyes) ซึ่งมีความสูงกว่า 3,916 เมตร บนยอดเขามีหิมะปกคลุมทั้งปี และสามารถมองเห็นทะเลดำและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้

เมืองแห่งนี้เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อราว 3 ล้านปีมาแล้ว ลาวาและเถ้าภูเขาไฟที่พ่นออกมาทำให้เกิดเป็นผืนดินใหม่ หลังจากนั้นมันได้ถูกกัดกร่อนโดยลม ฝน แดด หิมะจนทำให้เกิดเป็นหุบเขารูปลักษณ์แปลกตาในลักษณะต่างๆ เช่น กรวย หอปล่องไฟ กระโจม ฯ คล้ายกับเมืองในเทพนิยาย ทำให้มันมีอีกชื่อว่า “ปล่องไฟนางฟ้า” (Fairy Chimney)

และด้วยหุบเขามีเนื้อหินที่อ่อน เมื่อมีมนุษย์เข้ามาอาศัยในบริเวณนี้ พวกเขาจึงใช้โลหะตกแต่งก้อนหินเข้าไปเป็นโพรงที่พักอาศัย คอกม้า โบสถ์และสถานที่ต่างๆ จนถึงช่วงราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ชนชาวคัปปาโดเกียตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรโรมัน ทำให้มีความเชื่อเคารพบูชาในเทพเจ้าโรมัน

หลังจากนั้นได้มีการเข้ามาของคริสต์ศาสนา ชาวบ้านบางส่วนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นำมาซึ่งความไม่พอใจแก่ชนชั้นปกครองของโรมัน จึงมีการออกคำสั่งให้กวาดล้างผู้นับถือศาสนาคริสต์ให้หมด ดังนั้นพวกเขาจึงหลบซ่อนโดยการเจาะขุดสกัดหินลงไปเป็นอุโมงค์เป็นนครใต้ดินไคมัคลี (Underground City of Derinkuyu or Kaymakli) สร้างคอกม้า โบสถ์ โรงเรียน ห้องพักอาศัย ห้องเก็บอาหาร ห้องเก็บไวน์ ห้องเลี้ยงสัตว์ และบ่อน้ำมากถึง 200 บ่อ

  doxzilla  

ยิ่งเมื่อมีการรุกรานมากขึ้น พวกเขาก็ยิ่งขุดลึกลงไป โดยมีการคาดการณ์ว่า มีผู้คนอยู่อาศัยในเมืองใต้ดินแห่งนี้อยู่มากกว่า 10,000 คน ในห้องต่างๆลงไป มากกว่า 10 กว่าชั้น โดยห้องชั้นล่างของนครแห่งนี้มีความลึกถึง 85 เมตร เชื่อมต่อกันด้วยอุโมงค์แคบกว่า 100 อุโมงค์ มีช่องระบายอากาศเหมาะสม ทำให้ระบายอากาศได้ดีและมีอุณหภูมิเฉลี่ยราว 14-18 องศาเซลเซียส หน้าร้อนจึงเย็นสบายแม้หน้าหนาวก็ยังอบอุ่น ซึ่งในบางครั้งผู้คนใต้ดินก็จะใช้เวลาว่างไปกับการทำไวน์จากองุ่น และเบียร์จากข้าวบาเลย์อีกด้วย

หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 5-6 ชาวโรมันได้ยอมรับการเข้ามาของศาสนาคริสต์ พวกเขาจึงมีการสร้างโบสถ์มากขึ้นและมีการตกแต่งด้วยภาพเขียนสีอย่างสวยงามเรื่อยมา จนกระทั่งอาณาจักรออตโตมันเติบโตขึ้น ดินแดนได้ถูกเปลี่ยนถ่ายผู้ปกครองอีกครั้ง พลเมืองที่เข้ามาใหม่นั้นนับถือศาสนาอิสลาม โบสถ์คริสต์จึงถูกลดความสำคัญลงไป

อย่างไรก็ดี พื้นที่แห่งนี้ก็ยังเป็นเมืองสำคัญ ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม จึงมีการค้าขายและการสร้างคาราวานซาราย (Karavan Sarayi) หรือที่พำนักของกองคาราวาน แสดงให้เห็นบริเวณนี้เคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมากมายผลัดกันเข้าไปเยี่ยมชมความสวยงามตามธรรมชาติของเมืองอยู่เสมอ รวมถึงมีการขึ้นไปชมวิวมุมสูงด้วยบอลลูนกันเป็นประจำ

(1060)