วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว

วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว เป็นวงดนตรีไทยประเภทเครื่องสาย ประกอบด้วยเครื่องดนตรีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับใช้บรรเลงในอาคารหรือบริเวณที่มีสถานที่จำกัด มีเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงดังนี้

 

ซอด้วงเป็นซอสองสาย มีเสียงแหลม ก้องกังวาน คันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของ ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้

 

จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย เข้าใจว่าได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ คือ กระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อย

 

ซออู้ เป็นซอสองสาย ตัวกะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ กว้างประมาณ 13 – 14 ซม เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่างใกล้กะโหลก คันทวนซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม ใช้สายซอสองสายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับ ลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม

 

ขลุ่ยเพียงออ เป็นเครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องเป่าชนิดไม่มีลิ้น ทำจากไม้รวกปล้องยาวๆ ด้านหน้าเจาะรูเรียงกัน สำหรับปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่เป่าไม่มีลิ้นแต่มีดาก ซึ่งทำด้วยไม้อุดเหลาเป็นท่อนกลมๆยาวประมาณ ๒ นิ้ว สอดลงไปอุดที่ปากของขลุ่ย แล้วบากด้านหนึ่งของดากเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เราเรียกว่า ปากนกแก้ว

 

ฉิ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุด มี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรี ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์มีขนาดที่วัดฝ่านศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ 6 – 6.5 ซม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก

 

รำมะนา เป็นกลองที่ขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองที่ขึงหนังผายออก ตัวกลองสั้น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง มีอยู่ 2 ชนิด คือ “รำมะนามโหรี” และ “รำมะนาลำตัด”