มะโย่ง

มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมลายูในแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แก่ จังหวัดปัตตานีจังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา นอกจากนี้ยังมีการแสดงมะโย่งใน รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐเกดะห์ และรัฐปะลิส ในประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะริเยา ในประเทศอินโดนีเซีย

 

โดยการแสดงมะโย่ง เป็นศิลปะการร่ายรำที่ผสมผสานทางพิธีกรรม ความเชื่อ การละคร นาฏศิลป์ และดนตรีเข้าด้วยกัน ปัจจุบันการแสดงมะโย่งกำลังขาดผู้สืบทอด เนื่องจากบางส่วนเห็นว่าผิดหลักศาสนา และการเข้ามาของสื่อวิทยุโทรทัศน์ทำให้การแสดงมะโย่งหมดความสำคัญลงไป

อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาได้เล็งเห็นความสำคัญของการแสดงมะโย่ง ได้มีการฟื้นฟู และให้นักศึกษาได้ศึกษาและค้นหาความรู้และค้นหาความรู้ เพื่อนำมาปฏิบัติจริงโดย มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง มีลีลาคล้ายคลึงกับมโนราห์มาก แสดงเพื่อความบันเทิง และเพื่อใช้แก้บนหรือสะเดาะเคราะห์

 

ตัวพระนุ่งกางเกงคล้ายสนับเพลา แบบเดียวกับโนรา มีผ้าโสร่งนุ่งทับบน สูงเลยเข่าขึ้นมาเล็กน้อย ศีรษะโพกผ้าสาปูตางัน สวมเสื้อแขนสั้นรัดรูป นิยมใช้ผ้าแพรสีหรือผ้ากำมะหยี่เป็นพื้น เหน็บกริชไว้ข้างสะเอว มือถือมัดหวาย ส่วนตัวนางนุ่งผ้าปาเต๊ะ ลวดลายหลากสี สวมเสื้อกะบายอแขนยาว ใช้ผ้าสีดอกดวงเด่นๆ และมีผ้าสไบคล้องคอห้อยชายลงมาข้างแขน ผมเกล้ามวย มีดอกไม้ทัดหูและสอดแซมผม ส่วนตัวตลก หรือ พราน นุ่งโสร่งไม่สวมเสื้อ ใช้ผ้าขาวม้าคาดท้องและพาดบ่า มีมีด (ปีซาโกล้ด) เหน็บสะเอว สวมหน้ากากหรือตอแปง ส่วนตัวพี่เลี้ยง นางกำนัล นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อกะบายอแขนยาวเป็นผ้าธรรมดา

เครื่องดนตรีของมะโย่งนั้นมีกลองแขกหรือกลองมลายู 2 ใบ ฆ้องใหญ่ (ตาเวาะ)เสียงทุ้มและแหลมอย่างละใบ ซองา (รือบะ) สำหรับสีคลอเสียงร้องของเมาะโย่ง 1 คัน ปี่ (ซูนู) 1 เลา บางคณะมีเครื่องคนตรีอีก 2 ชนิด คือ กรับ (กอเลาะ) และท่อนไม้ไผ่ยาวประมาณ 16-18 นิ้ว (จือเระ) ใช้ตี

เมาะโย่งเป็นละครของชาวไทยมุสลิมภาคใต้นิยมกันมากในอดีตจัดแสดงเมื่อมีงานมงคลต่างๆ ของชาวพื้นเมืองเช่น งานมงคลสมรส (มาแกปูโละ) เข้าสุนัต (มะโซะยาวี) เมาลิด ฮารีรายอ การแก้บน (บายากาโอล) การสะเดาะเคราะห์ และพิธีกรรมบูชาขวัญข้าว (ปูยอมือแน) หรือบางครั้งแม้ไม่มีงานบุญก็อาจจะหามาเล่นเพื่อความบันเทิงในหมู่บ้านก็ได้ หรือตามที่เจ้างานรับไปแสดง ปกติแสดงในเวลากลางคืนโดยเริ่มแสดงราว 19 นาฬิกา เลิกเวลาประมาณ 1 นาฬิกา