หยาดน้ำค้าง : sundew

หยาดน้ำค้าง : sundew เป็นพืชกินสัตว์สกุลใหญ่สกุลหนึ่ง มีอยู่ประมาณ 194 ชนิด เป็นสมาชิกในวงศ์หญ้าน้ำค้าง สามารถล่อ จับ และย่อยแมลงด้วยต่อมเมือกของมันที่ปกคลุมอยู่ที่ผิวใบ โดยแมลงที่จับได้จะใช้เป็นสารเสริมทดแทนสารอาหารที่ขาดไปจากดินที่ต้นหยาดน้ำค้างขึ้นอยู่ หยาดน้ำค้างหลากหลายชนิดนั้น จะต่างกันไปทั้งในขนาดและรูปแบบ

สามารถพบได้แทบจะในทุกทวีปทั่วโลก ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา ในประเทศไทยพบหยาดน้ำค้างอยู่ 3 ชนิดคือ จอกบ่วาย (Drosera burmannii Vahl), หญ้าน้ำค้าง (Drosera indica L.) และ หญ้าไฟตะกาด (Drosera peltata Sm.)

 

หยาดน้ำค้างเป็นพืชหลายปี โตชั่วฤดู มีรูปแบบเป็นใบกระจุกทอดนอนไปกับพื้นหรือแตกกิ่งก้านตั้งตรงกับพื้นดิน มีขนาดความสูง 1 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ขึ้นอยู่กับชนิด ในชนิดที่มีรูปแบบลำต้นเลื้อยไต่สามารถยาวได้ถึง 3 เมตร เช่น ชนิด D. erythrogyne หยาดน้ำค้างสามารถมีช่วงชีวิตได้ถึง 50 ปีพืชสกุลนี้มีความสามารถในการดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อที่จับได้เพราะหยาดน้ำค้างขนาดเล็กจะไม่มีเอนไซม์ ที่ต้นไม้ทั่วไปใช้ดูดซึมสารประกอบไนโตรเจนในดิน

 

หยาดน้ำค้างมีต่อมหนวดจับ ที่ปลายของหนวดมีสารคัดหลั่งเหนียวปกคลุมแผ่นใบ กลไกการจับและย่อยเหยื่อปกติใช้ต่อมสองชนิด ชนิดแรกคือต่อมมีก้านที่หลั่งเมือกรสหวานออกมาดึงดูดและดักจับแมลง และหลั่งเอนไซม์ออกมาเพื่อย่อยแมลงนั้น ชนิดที่สองคือต่อมไร้ก้านที่ดูดซึมสารอาหารที่ได้จากการย่อย เหยื่อขนาดเล็กซึ่งส่วนมากจะเป็นแมลงจะถูกดึงดูดโดยสารคัดหลั่งรสหวานที่หลั่งออกมาจากต่อมมีก้าน เมื่อแมลงแตะลงบนหนวด แมลงก็จะถูกจับไว้ด้วยเมือกเหนียว และในที่สุดเหยื่อก็จะยอมจำนนต่อความตาย

 

<------------->

<------------->

 

 

หยาดน้ำค้างหลายชนิดสืบพันธุ์ได้ด้วยตนเอง (ผสมในต้นเดียว) และบ่อยครั้งที่มีการผสมเรณูในดอกเดียวกันทำให้มีเมล็ดมากมาย เมล็ดสีดำเล็กๆจะเริ่มงอกเมื่อได้รับแสงและความชื้น ขณะที่เมล็ดของชนิดที่อยู่ในเขตอบอุ่นต้องการความเย็น, อากาศชื้น, เป็นตัวกระตุ้นในการงอก เมล็ดของหยาดน้ำค้างที่มีหัวต้องการความร้อน, ฤดูร้อนที่แห้ง ตามด้วยความเย็น, ฤดูหนาวที่เปียกชื้น สำหรับกระตุ้นให้เมล็ดงอก

การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเกิดขึ้นตามธรรมชาติในหยาดน้ำค้างบางชนิดที่สร้างไหลหรือเมื่อรากอยู่ใกล้กับผิวดิน ใบแก่ที่สัมผัสกับดินอาจแตกหน่อเป็นต้นเล็กๆได้ หยาดน้ำค้างแคระจะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเช่นกัน โดยใช้ใบที่คล้ายเกล็ดที่เรียกว่าเจมมา หยาดน้ำค้างที่มีหัวสามารถสร้างตะเกียงจากหัวของมันได้

 

หยาดน้ำค้างถูกให้ในทางการแพทย์มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่12 เมื่อแพทย์ชาวอิตาลีจากโรงเรียนแห่งซาแลร์โน (Salerno) ที่ชื่อมัตตาเออุส ปลาเตอารีอุส บรรยายถึงพืชสกุลนี้ว่าเป็นยาสมุนไพรรักษาอาการไอ มีการใช้กันทั่วไปในประเทศเยอรมนีและทุกๆที่ในทวีปยุโรป ชาที่ทำจากหยาดน้ำค้างถูกแนะนำจากนักสมุนไพรว่าสามารถเป็นรักษาอาการไอแห้งๆ, โรคหลอดลมอักเสบ, โรคไอกรน, โรคหืด และ “อาการหายใจลำบากที่มีสาเหตุจากหลอดลม” จากการศึกษาในปัจจุบันระบุบว่าพืชสกุลหยาดน้ำค้างมีคุณสมบัติบรรเทาอาการไอ

(637)

ใส่ความเห็น