หมู่เกาะกาลาปาโกส : Galápagos Islands

หมู่เกาะกาลาปาโกส : Galápagos Islands เป็นหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีความน่าสนใจทั้งด้านธรณีวิทยา สัตววิทยา และนิเวศวิทยาเป็นอย่างยิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของประเทศเอกวาดอร์ ตั้งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ห่างจากทวีปออกไปทางตะวันตก 1,000 กิโลเมตร  ในปี พ.ศ. 2550 องค์การยูเนสโกได้จัดมรดกโลกแห่งนี้ให้เป็นมรดกโลกที่อยู่ในสภาวะอันตราย

หมู่เกาะกาลาปาโกสประกอบด้วยเกาะใหญ่ 5 เกาะ เกาะขนาดกลาง 8 เกาะ และเกาะเล็กอีก 6 เกาะ พร้อมเกาะแก่งเล็ก ๆ หรือโขดหินกลางทะเลอีกประมาณ 40 แห่ง โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 7,994 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในทะเล 59,500 ตารางกิโลเมตร เกาะต่าง ๆ มีชื่อเรียกทั้งในภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ

 

หมู่เกาะนี้เกิดจากการสะสมตัวของลาวาจากภูเขาไฟ เมื่อ 7-9 ล้านปีมาแล้ว และยังมีภูเขาไฟมีพลัง แม้ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ยังเกิดภูเขาไฟอยู่ประปราย ภูมิประเทศที่โดดเด่น คือพื้นผิวที่ขรุขระอันเกิดจากภูเขาไฟ ปล่องภูเขาไฟ และหน้าผา เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือ เกาะอัลเบมาร์ล (Albermarle) มีรูปร่างเป็นฉาก ความยาวทั้งหมด 132 กิโลเมตร ครอบครองเนื้อที่เกินครึ่งของหมู่เกาะนี้ จุดที่สูงที่สุดในหมู่เกาะนี้ คือ ภูเขาอาซุล (Azul) สูง 1,689 เมตร โดยหมู่เกาะนี้ยังมีภูเขาไฟชื่อภูเขาไฟวูล์ฟ (Wolf Volcano) อยู่ทางด้านเหนือของเกาะอิซาเบลาไปหลายไมล์

 

หมู่เกาะกาลาปาโกสเป็นหมู่เกาะที่อยู่ไกลจากชายฝั่งเอกวาดอร์ประมาณ 965 กิโลเมตร หรือ 600 ไมล์ เป็นหมู่เกาะที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตรและในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้มีกระแสน้ำไหลผ่าน 3 สาย คือ กระแสน้ำอุ่นจากทางด้านเหนือ กระแสน้ำเย็นจากทางด้านใต้ แล้วกระแสน้ำเย็นจากที่ลึกจากทางด้านตะวันตกของหมู่เกาะ

 

  

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2378 ชาลส์ ดาร์วิน ได้เดินทางมาแวะที่หมู่เกาะกาลาปาโกส โดยพักอยู่ในหมู่เกาะนี้ 5 สัปดาห์ ดาร์วินได้เดินทางมากับเรือบีเกิล (Beagle) แวะที่เกาะใหญ่ 4 เกาะ คือเกาะแชแทม เกาะชาลส์ เกาะอัลเบอร์มาร์ล และเกาะเจมส์ โดยใช้เวลา 19 วันในการเก็บสะสมตัวอย่าง และสังเกตลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสัตววิทยาของที่นี่ ดาร์วินเรียกหมู่เกาะแห่งนี้ว่า “ห้องปฏิบัติการวิวัฒนาการที่มีชีวิต”  เมื่อชาลส์ ดาร์วินได้ตีพิมพ์หนังสือ กำเนิดพงศ์พันธุ์ ในปี พ.ศ. 2402 ผู้คนก็รู้จักหมู่เกาะกาลาปาโกสมากขึ้น

 

ชื่อเสียงของหมู่เกาะนี้เริ่มต้นที่ลักษณะอันน่าแปลกของสัตว์บนเกาะต่าง ๆ นั่นเอง โดยเฉพาะเต่ายักษ์ ซึ่งภาษาสเปนโบราณเรียกว่า กาลาปาโก (galápago) อันเป็นที่มาของชื่อหมู่เกาะนี้ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำแทบจะไม่มีเลย สัตว์เลื้อยคลานมีน้อย ส่วนสัตว์บกท้องถิ่นมีสัตว์ฟันแทะเพียง 7 ชนิด และค้างคาวอีก 2 ชนิด ส่วนนกบนเกาะเหล่านี้มีเพียง 80 ชนิดและชนิดย่อย นกที่พบมากที่สุด คือนกฟินช์กาลาปาโกส หรือนกฟินช์ดาร์วิน

สภาพปัจจุบันสัตว์จำนวนมากในหมู่เกาะนี้เริ่มมีจำนวนลดลง รวมทั้งปลาวาฬและแมวน้ำขนเฟอร์ ซึ่งถูกจับจนเกือบสูญพันธุ์ เต่าก็ลดจำนวนลงอย่างมาก และบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ เพราะมีศัตรูจากถิ่นอื่นที่นักเดินเรือนำเข้ามา

 

อนุรักษ์กาลาปาโกสด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยาข้างต้น ทำให้หลายหน่วยงานพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ รวมทั้งสภาพนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมบนหมู่เกาะ ทำให้ปัจจุบันมีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับเต่ายักษ์พวกนี้ และได้รับความสำเร็จพอสมควร ทั้งยังมีคณะกรรมการที่เรียกว่า Galapagos Conservation Trust ในกรุงลอนดอน ที่พยายามอนุรักษ์สภาพทางนิเวศวิทยาของหมู่เกาะ และเสนอให้เป็นแหล่งมรดกโลก และจัดให้อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย

(581)

ใส่ความเห็น