ปลาสเตอร์เจียน

ปลาสเตอร์เจียน (อังกฤษ: Sturgeon, รัสเซีย: Oсетр, จีน: 鱘) ปลากระดูกแข็งขนาดใหญ่ในวงศ์ Acipenseridae ในอันดับ Acipenseriformes อาศัยได้อยู่ทั้งน้ำจืด, น้ำกร่อย และทะเล เมื่อยังเล็กจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ทะเลสาบหรือตามปากแม่น้ำ แต่เมื่อโตขึ้นจะว่ายอพยพสลงสู่ทะเลใหญ่ และเมื่อถึงฤดูวางไข่ก็จะว่ายกลับมาวางไข่ในแหล่งน้ำจืด

 

ปลาสเตอร์เจียน เป็นปลาที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข่ปลา ที่เรียกว่า คาเวียร์ ซึ่งนับเป็นอาหารราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

ปลาสเตอร์เจียน มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม มีหนามแหลมสั้น ๆ บริเวณหลัง หัว และเส้นข้างลำตัวไว้เพื่อป้องกันตัว มีหนวดทั้งหมด 2 คู่อยู่บริเวณปลายจมูก ปลายหัวแหลม ปากอยู่ใต้ลำตัว ลำตัวไม่มีเกล็ด ภายในปากไม่มีฟัน ตามีขนาดเล็ก ซึ่งหนวดของปลาสเตอร์เจียนนี้มีหน้าที่สัมผัสและรับคลื่นกระแสไฟฟ้าขณะที่ว่ายน้ำ เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ด้านใต้ของลำตัว เพราะฉะนั้นหนวดเหล่านี้มีหน้าที่เหมือนมือที่คอยสัมผัสกับสิ่งของที่อยู่ข้างใต้ของตัวเอง

  doxzilla  

หากินตามพื้นน้ำโดยอาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ สเตอร์เจียนจะพบแต่เฉพาะซีกโลกทางเหนือซึ่งเป็นเขตหนาวเท่านั้น ได้แก่ ทวีปเอเชียตอนเหนือและตะวันออก, ทวีปยุโรปตอนเหนือ และทวีปอเมริกาเหนือตอนบน เช่น อะแลสกา, แคนาดา และบางส่วนในสหรัฐอเมริกา สถานะปัจจุบันของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในบางชนิด

ปลาสเตอร์เจียน มีทั้งหมด 27 ชนิด ใน 3 สกุล โดยชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ปลาฮูโซ่ (Huso huso) พบในรัสเซีย สามารถโตเต็มที่ได้ถึง 5 เมตร หนักกว่า 900 กิโลกรัม และมีอายุยืนยาวถึง 210 ปี นับเป็นปลาที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก เท่าที่มีการบันทึกมา และเป็นชนิดที่ให้ไข่รสชาติดีที่สุดและแพงที่สุดด้วย ส่วนชนิดที่เล็กที่สุดคือ ปลาสเตอร์เจียนแคระ (Pseudoscaphirhynchus hermanni) ที่โตเต็มที่มีขนาดไม่ถึง 1 ฟุตเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้แล้ว ปลาสเตอร์เจียนยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย

(949)

ใส่ความเห็น