ดาวมงกุฎหนาม

ดาวมงกุฎหนาม หรือ ปลาดาวหนาม (อังกฤษ: Crown-of-thorns starfish, ชื่อวิทยาศาสตร์: Acanthaster planci) เป็นดาวทะเลชนิดหนึ่งเป็นดาวทะเลขนาดใหญ่ มีแขนรวมกันทั้งหมด 16-21 แฉก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 25-30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในทะเลเขตอินโด-แปซิฟิก

 

ตามผิวหนังมีหนามยาวคล้ายเม่น ปากอยู่ทางด้านล่าง ใต้แขนมีขาขนาดเล็ก ๆ คล้าย ๆ กับปุ่มที่หนวดปลาหมึกเป็นจำนวนมากยื่นออกมายึดเกาะพื้น ตรงกลางตัวด้านล่างมีปาก มีหนามแหลมคมปกคลุมที่ตัวทางด้านบน บนหนามมีสารซาโปนินเคลือบอยู่ ซึ่งมีพิษต่อสัตว์หลายชนิด เป็นสัตว์ที่แยกเพศ มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ

 

โดยตัวเมียปล่อยไข่ออกมานอกตัว และตัวผู้ปล่อยสเปอร์มออกมาผสมพันธุ์ ตัวเมียแต่ละตัวมีไข่ประมาณ 12-24 ล้านฟอง ฤดูกาลวางไข่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีรายงานว่าดาวมงกุฎหนามที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ วางไข่ในเดือนธันวาคม และมกราคม

 

 

<------------->

<------------->

 

ดาวมงกุฎหนามเป็นสัตว์ที่กินปะการังเป็นอาหาร ในทางนิเวศวิทยาถือเป็นสัตว์ที่ควบคุมประชากรปะการังไม่ให้มีการจนเกินไป แต่ในหลายพื้นที่ก็มีการแพร่ระบาดจนเกิดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ที่เกาะกวม แนวปะการังถูกดาวมงกุฎหนามทำลายไปเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ต่อเดือน บริเวณที่ถูกทำลายไปแล้วปะการังอาจฟื้นตัว ก่อตัวขึ้นใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10-40 ปี หรือนานกว่านี้ หรือในประเทศญี่ปุ่น ได้ลงทุนกำจัดดาวมงกุฎหนามโดยใช้ทุนไป 600 ล้านเยน กำจัดดาวมงกุฏหนามไป 13 ล้านตัวที่เกาะริวกิว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970-ค.ศ. 1983 แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

 

และจากการศึกษาในระยะหลัง มีการสรุปว่าปริมาณดาวมงกุฎหนามในพื้นที่ 1 เฮกแตร์ (ประมาณ 10,000 ตารางเมตร) หากมีจำนวนเกิน 10 ตัว ก็ถือว่าอยู่ในระดับระบาดแล้ว ถ้าเกิน 30 ตัว ถือว่าระบาดรุนแรงมาก เมื่อดาวมงกุฎหนามระบาด ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแนวปะการังจะแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าที่จะเกิดจากสาเหตุการทำลายโดยปัจจัยอื่น ๆ เพราะดาวมงกุฎหนามสามารถคืบคลานกินปะการังได้ทุกซอกทุกมุม

 

แต่ดาวมงกุฎหนามเองก็มีศัตรูตามธรรมชาติ คือ หอยสังข์แตร (Charonia tritonis) ที่กินดาวมงกุฎหนามเป็นอาหาร ถือเป็นสัตว์ที่เป็นตัวควบคุมมิให้ปริมาณดาวมงกุฏหนามมีปริมาณมากเกินไปด้วย

(251)

ใส่ความเห็น