มังกรทะเลใบหญ้า สัญลักษณ์ของรัฐวิกตอเรีย

มังกรทะเลใบหญ้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Phyllopteryx taeniolatus เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้และม้าน้ำ ถือเป็นสัญลักษณ์ของรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย  พบกระจายพันธุ์เฉพาะตอนใต้ของออสเตรเลียและเกาะแทสเมเนียเท่านั้น เช่นเดียวกับมังกรทะเลใบไม้ โดยอาศัยอยู่ตามกองหินและแนวปะการัง หรือกอสาหร่าย พบได้ในระดับความลึกถึง 50 เมตร 

มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับมังกรทะเลใบไม้ ซึ่งเป็นปลาชนิดที่ใกล้เคียงมากที่สุด เพียงแต่มังกรทะเลใบหญ้ามีระยางค์ต่าง ๆ น้อยกว่า มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 45 เซนติเมตร แต่ขนาดโดยทั่วไปประมาณ 30 เซนติเมตร

เป็นปลาที่มีพฤติกรรมการขยายพันธุ์เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน คือ ตัวผู้เป็นฝ่ายอุ้มท้อง ตัวเมียจะวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 120 ฟอง ในหน้าท้องของตัวผู้ ไข่ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนถึงจะฟักเป็นตัว ตัวอ่อนเมื่อฟักออกมาแล้วจะกินอาหารได้เลยทันทีและว่ายน้ำเป็นอิสระได้เอง

  

ปัจจุบันมีการเลี้ยงแสดงไว้ตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลกประมาณ 50 แห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจอร์เจีย ซึ่งมีความพยายามในการเพาะขยายพันธุ์อยู่

(1943)

ใส่ความเห็น