ลิเกป่า

ลิเกป่า หรือ ลิเกรำมะนา หรือ ลิเกบก เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวปักษ์ใต้ของไทย ลิเกป่านิยมแถบจังหวัดพัทลุง กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ใช้เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองรำมะนา หรือ โทน 2 – 3 ใบ ฉิ่ง ปี่ ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่ บางคณะอาจจะมีโหม่ง และทับด้วย

 

ลิเกป่ามีนายโรงเช่นเดียวกับหนังตะลุง และมโนราห์ และโร สำหรับการแสดงก็คล้ายกับโรงมโนราห์ ผู้แสดงลิเกป่า คณะหนี่งมีประมาณ 6-8 คน ถ้ารวมลูกคู่ด้วยก็จะมีจำนวนคนพอ ๆ กับมโนราห์หนึ่งคณะ

 

การแสดงจะเริ่มด้วยการโหมโรง “เกริ่นวง” ต่อจากเกริ่นวงแขกขาวกับแขกแดงจะออกมาเต้นและร้องประกอบ โดยลูกคู่จะรับไปด้วย หลังจากนั้นจะมีผู้ออกมาบอกเรื่อง แล้วก็จะเริ่มแสดงเลย

 

การแต่งกาย พระเอกจะแต่งกายงามเป็นพิเศษ คือนุ่งผ้าโจรงกระเบน ใส่เสื้อแขนยาว ใส่ทองกร สวมสายสร้อย สังวาล ทับทรวง ถ้ามีชฎา ซึ่งอาจจะทำด้วยกระดาษหรือหนัง ประดับประดาด้วยพลอยหรือกระจกให้แวววาว ส่วนนางเอกก็นุ่งผ้าถุงจีบใส่เสื้อแขนสั้น กำไลเท้า มีผ้าห่มคลุมห้อยพาดหลัง อาจจะสวมใสชฎา ตัวตลก หรือเสนาอำมาตย์ก็แต่งกายอย่างง่ายๆ คือไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าถุง แต้มหน้าทาคิ้วให้ดูแล้วน่าขัน

 

ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนาซึ่งเคยมีเล่นกันแพร่หลายในนครศรีธรรมราช เล่นได้เกือบทุกงานเช่นงานแต่งงาน บวชนาค งานวัด งานศพ โรงสำหรับแสดงคล้ายกับโรงมโนห์ราคือปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างและยาวเท่าๆ กับโรงมโนห์รา มีหลังคา ยกพื้นหรือไม่ยกพื้นก็ได้ ใช้เสื่อปู หน้าโรงโปร่งทั้งสามด้าน ตรงกลางมีฉากหรือม่านกั้น ส่วนหลังโรงใช้เป็นที่แต่งตัวและเก็บเครื่องใช้ไม้สอย