ฟ้อนโยคีถวายไฟ

ฟ้อนโยคีถวายไฟ การฟ้อนชนิดหนึ่งที่มีที่มาจากคุ้มเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ คือ “ฟ้อนโยคีถวายไฟ” เป็นกระบวนฟ้อนชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากดำริของเจ้าแก้วนวรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของเชียงใหม่ เป็นการคิดขึ้นเพื่อเตรียมรับเสด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจฯ

 

เมื่อปีพ.ศ. 2463 โดยจ้างครูฟ้อนชาวพม่ามาถ่ายทอดให้ แล้วมอบหมายหน้าที่ให้ พ่อเลี้ยงน้อยสม สมุทรนาวี คหบดีชาวเชียงใหม่ดำเนินการทั้งหมด การฟ้อนครั้งแรกคราวนั้นใช้ผู้แสดงเป็นชายทั้งหมดเพราะเพลงที่ใช้ร้องเป็นบทร้องของผู้ชาย และท่าฟ้อนเกือบทั้งหมดจะใช้การเคลื่อนไหว ด้วยการเต้นเป็นส่วนใหญ่ มีการแสดงเพียงครั้งเดียว

 

ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2477 จังหวัดเชียงใหม่ได้รับเชิญไปร่วมแสดงในงานเผยแพร่ วัฒนธรรมประจำภาคที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร เจ้าแก้วนวรัฐฯ จึงได้ฟื้นฟูการแสดงชุดนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้พ่อเลี้ยงน้อยสมเป็นผู้จัดการเช่นเดิม พ่อเลี้ยงน้อยสมได้มอบหมายให้ นางทวีลักษณ์ สามะบุตร หลานสาวเป็นผู้ฝึกหัดช่างฟ้อนชุดใหม่โดยเปลี่ยนเป็น “หญิง” ทั้งหมด เพราะนางเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครูพม่าคนแรก

 

จุดประสงค์ครั้งแรกของพ่อเลี้ยงน้อยสม สมุทรนาวี ต้องการให้บุตรหลานแสดงต้อนรับกรมพระนครสวรรค์ฯ แต่แม่เลี้ยงบุญปั๋น ผู้เป็นภรรยาไม่ยอมให้บุตรหลานสาวๆ ออกแสดงฟ้อนโยคีถวายไฟ โดยช่างฟ้อนหญิงนี้ เคยจัดให้มีขึ้นอีกก่อนไปแสดงที่กรุงเทพฯ ในงานประจำปีที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

 

เมื่อปี พ.ศ. 2475 ทางโรงเรียนทูลเชิญพระราชชายาฯ เสด็จไปเป็นประธานฯ ทรงทอดพระเนตรชุดนี้ด้วย และทรงพอพระทัยจึงเรียกนางทวีลักษณ์ไปสอนให้ตัวละครของพระองค์ อันได้แก่ นางสมพันธ์ โชตนา นางขิมทอง ณ เชียงใหม่ นางยุพดี สุขเกษม นางอัญชัน ปิ่นทอง นางนวลฉวี เสนาคำ นางสมหมาย ยุกตยุตร นางสมพร สุรจินดา เป็นเหตุให้แพร่หลายมาจนทุกวันนี้

การฟ้อนโยคีถวายไฟ จะเห็นได้ว่าก่อนนั้นเป็นการแสดงเชิงนาฏศิลป์ทั่วไป ภายหลังพบว่ามีการนำไปแสดงหน้าเมรุก่อนมีการเผาศพ ด้วยเห็นว่ามีคำว่า “ถวายไฟ” และได้เห็นตัวอย่างจากการแสดงโขนหน้าไฟของภาคกลางด้วย

ปัจจุบันฟ้อนชนิดนี้หาดูได้ยาก อาจเป็นเพราะคิดกันไปว่าเป็นการแสดงหน้าศพซึ่งเป็นงานอวมงคล จึงเป็นสาเหตุให้ลดความนิยมลงไป