ตุ๊กตาไล่ฝน : teru-teru-bōzu

ตุ๊กตาไล่ฝน หรือ เทะรุเทะรุโบซุ ถูกสร้างขึ้นในสมัยเอโดะ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตุ๊กตาเซ่าฉิงเหนียง (หญิงสาวผู้ขจัดเมฆฝน) ของประเทศจีน เป็นตุ๊กตาขนาดเล็กที่ชาวญี่ปุ่นนิยมแขวนไว้ที่หน้าบ้าน ในเวลาที่ต้องการให้อากาศแจ่มใส ลักษณะของตุ๊กตาไล่ฝนเป็นตุ๊กตาผ้าสีขาว หัวกลมและมีการเขียนหน้าตา ในบางโอกาสชาวนาจะแขวนตุ๊กตาไล่ฝนกลับหัวสำหรับขอฝน ปัจจุบันยังมีการแขวนตุ๊กตาไล่ฝนกันบ้างโดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก

คำว่า เทะรุ (てる) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “แดดออก” และ โบซุ (坊主) แปลว่า พระ ทำนองเป็นตุ๊กตานักบวชที่ทำขึ้นสำหรับขอพร ญี่ปุ่นได้รับธรรมเนียมนี้มาจากประเทศจีนเมื่อราวสมัยเฮอัง ประเทศจีนมีตุ๊กตาขอพรที่เป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงถื ไม้กวาดอยู่ เรียกว่า 掃晴娘 เชื่อกันว่าไม้กวาดสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปได้

โดยมีบันทึกจากหนังสือในสมัยโบราณได้บันทึกข้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับตุ๊กตาเซ่าฉิงเหนียงว่า…ฝนตกมานานจนมากเกินไปแล้ว ชาวบ้านจึงเอากระดาษสีขาวมาทำเป็นส่วนศีรษะ ตัดกระดาษสีแดงและเขียวมาทำเป็นเสื้อผ้า แล้วผูกแขวนไว้ใต้หลังคา เรียกกันว่า “เซ่าฉิงเหนียง” ด้วยเหตุนี้เองการทำตุ๊กตาไล่ฝนจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน

  

บางตำนานก็เล่ากันว่า พระสงฆ์ในนิกายเซน(Zen) เป็นผู้แนะนำให้ชาวบ้านสร้างมันขึ้นเพื่อขอพรให้วันพรุ่งนี้มีท้องฟ้าที่สด ชื่นแจ่มใส พวกเขาจะได้มีกำลังใจออกไปทำไร่ไถนาได้อย่างสะดวกสบาย ความเชื่อเช่นนี้สังเกตได้ว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำตุ๊กตาไล่ฝนที่มีศีรษะล้านเลี่ยน อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระสงฆ์ที่มาช่วยขจัดปัดเป่าเมฆฝนให้มลายหายไปนั่นเอง

(1048)

ใส่ความเห็น