หัวโขน

หัวโขน เป็นงานศิลปะชั้นสูง ใช้สำหรับสวมครอบศีรษะ เป็นศิลปวัตถุประเภทประณีตศิลป์ และงานศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกาย ประณีตบรรจงตามแบบช่างไทย มีรูปลักษณะสวยงาม ลักษณะคล้ายหน้ากาก แตกต่างตรงที่เป็นการสร้างจำลองรูปทรงใบหน้าและศีรษะทั้งหมด เจาะช่องเป็นรูกลมที่นัยน์ตาของหัวโขน ให้ตรงกับนัยน์ตาของผู้แสดงเพื่อการมองเห็น

แบ่งเป็น 2 ประเภทคือหัวโขนสำหรับใช้ในการแสดง หมายความถึงหัวโขนที่สื่อถึงตัวละครนั้น ๆ เช่น พระ ยักษ์ เทวดา วานรและสัตว์ต่าง ๆ สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ตามเอกลักษณ์ของหัวโขนที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบของศิลปะไทย และหัวโขนที่ใช้สำหรับเป็นของประดับตกแต่งหรือของที่ระลึก หมายความถึงหัวโขนที่ทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยพลาสติกหรือกรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก

การทำหัวโขน เป็นการสร้างสรรค์ของช่างทำหัวโขนที่มีความชำนาญ การสืบทอดวิชาแบบครูสอนศิษย์ ที่มีเอกลักษณ์หรือรูปแบบเฉพาะตัวของช่างไทยแบบโบราณ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการค้นพบศีรษะของพระครูและศีรษะของทศกัณฐ์ในคลังหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์

 

<------------->

 

 

<------------->

 

ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า การทำหัวโขนนั้นเริ่มต้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในด้านของวรรณกรรมและนาฏศิลป์ของไทย

การทำหัวโขนนั้น มีกระบวนการและขั้นตอนเป็นแบบแผนของช่างทำหัวโขนในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ที่มีการเตรียมหุ่นและแม่แบบเอง ในสมัยโบราณมักใช้ดินเหนียวสำหรับปั้นแบบขึ้นรูป ปั้นใบหน้าหุ่น ติดลวดลาย ปิดทอง ติดพลอยและกระจก เขียนสีและทำยอด ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติและคุณภาพใกล้เคียงดินเหนียวคือกระดาษสา กระดาษข่อย กระดาษฟางและไม้ไผ่สำหรับสานเป็นโครง โดยเลือกใช้กระดาษอย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้วัสดุและอุปกรณ์เช่นเดียวกับช่างทำหัวโขนในสมัยโบราณ

(1576)