แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด

แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด คือแหล่งโบราณที่มีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุด และมีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย ณ เวลานี้ นับได้ตั้งแต่ยุคหินใหม่ สำริด เหล็ก เรื่อยมากระทั่งยุคปัจจุบัน กว่า 200 ชั่วอายุคนตัวแหล่งขุดค้นตั้งอยู่ในเขตตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภายในได้มีขุดพบหลุมศพ กระดูกมนุษย์ เครื่องประดับ และไหโบราณลวดลายงดงาม ซึ่งมีอายุอานามใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่จังหวัดอุดรธานี คือประมาณ 4,500 ปี

การดำรงชีวิตของชุมชนโบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดกล่าวโดยสรุป ชุมชนโบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดมีการดำรงชีวิตหรือความเป็นอยู่โดยการเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย หมู และสุนัข ล่าสัตว์และดักสัตว์จำพวกวัวป่า หมูป่า กวางป่า เนื้อสมัน ละอง / ละมั่ง เนื้อทราย เก้ง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก จับสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก จำพวกปลา หอย เต่า และตะพาบน้ำ

 

<------------->

 

 

<------------->

 

การบริโภคสัตว์นิยมกินไขกระดูก โดยการทุบขวางกระดูก (diaphysis) นอกจากนี้ยังมีการเพาะปลูกข้าวและการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอก สภาพแวดล้อมรับแหล่งโบราณคดีเป็นที่ราบน้ำท่วมขังและมีแม่น้ำ ลำน้ำสาขา คลอง สระ หนอง ส่วนป่านั้นที่โดดเด่นคือป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าแดง หรือป่าเต็งรัง เพราะป่าเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้


หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีอายุอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ครบทั้ง 4 ช่วง คือ ยุคหินใหม่ ยุคสำริด และยุคเหล็ก ต่อเนื่องจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ คือ ทวารวดี เขมร อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน


ซึ่งการเข้ามาศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยชาวต่างประเทศ ได้เข้ามาทำการวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ในทุกสาขาวิชาการ อันเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนักวิจัยและประชาชนในชุมชนท้องถิ่น

(1269)