เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งประเทศไทย

กกุธภัณฑ์ หรือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามรูปศัพท์แปลว่า เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ กกุธภัณฑ์ เป็นคำภาษาบาลีมาจาก กกุธ แปลว่า เครื่องหมายความเป็นพระราชา + ภณฺฑ แปลว่า ของใช้; ระบุไว้ในอภิธานัปปทีปิกา คาถา ที่ 358 ว่า พระขรรค์ ฉัตร อุณหิส ฉลองพระบาท วาลวีชนี คือ มีฉัตรแทนธารพระกร

พระมหาเศวตฉัตร หรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งประเทศไทย ฉัตร เป็นเครื่องสูงสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เพื่อเป็นเกียรติยศ ฉัตรมีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ฉัตรถือเป็นของสูง เปรียบเสมือนสวรรค์ซึ่งเป็นศูนย์รวมจักรวาล

พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นหนึ่งในห้าของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน เครื่องประดับพระเศียรองค์แรก สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ในพุทธศักราช 2325 ทำด้วยทองคำลงยาบริสุทธิ์ ประดับเพชร เฉพาะองค์พระมหามงกุฎ ไม่รวมพระกรรเจียกจอน สูง 51 ซ.ม. ถ้ารวมพระกรรเจียกจอนสูง 66 ซ.ม. มีน้ำหนักถึง 7.3 กิโลกรัม ที่ยอดประดับเพชรเม็ดใหญ่ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หามาจากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย มาประดับที่ยอดพระมหามงกุฎ พระราชทานนามเพชรเม็ดนั้นว่า “พระมหาวิเชียรมณี”

พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงศาสตราวุธประจำองค์พระมหากษัตริย์ พระขรรค์หมายถึง พระสติปัญญาความรอบรู้ในการปกครองบ้านเมือง

 

<------------->

 

 

<------------->

 

ธารพระกร เป็นไม้เท้าของพระมหากษัตริย์นั้น เดิมเรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ เนื่องจากทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทอง หัวและส้นเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ใช้ในพระราชพิธีฉัตรมงคล

วาลวีชนี ประกอบไปด้วย พัดวาลวิชนี และ พระแส้หางจามรี พระแส้หางจามรีมีที่มาจากคำว่า “จามร” ซึ่งเป็นแส้ทำด้วยขนหางจามรี ส่วนวาลวิชนี เดิมนั้นคือพัดใบตาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ชื่อ วาลวิชนี นั้น คำว่า”วาล” เป็นขนโคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “จามรี” จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น มีด้ามเป็นแก้ว ต่อมา ได้เปลี่ยนขนจามรีเป็นขนหางช้างเผือกแทน และใช้คู่กันกับพัดวาลวิชนี ซึ่งประดิษฐ์จากใบตาล ด้ามและลวดลายประกอบทำด้วยทองลงยา

ฉลองพระบาทเชิงงอนเป็นสิ่งประจำองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์ หรือรองเท้าของพระมหากษัตริย์ ที่ทำมาจากเกือกแก้ว ซึ่งหมายถึง ผืนแผ่นดินอันเป็นที่รองรับของเขาพระสุเมรุ และเป็นที่อยู่อาศัยของ อาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งแว่นแคว้นฉลองพระบาทเชิงงอนนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามแบบประเพณีอินเดียโบราณ

(3003)