ศาลาเฉลิมไทย

ศาลาเฉลิมไทย เป็นอาคารที่ตั้งอยู่มุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย ก่อสร้างในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีความประสงค์ให้เป็นโรงละครแห่งชาติในเวลานั้น และมีรูปแบบของอาคารกลมกลืนกับอาคารอื่นที่สร้างขึ้นริมถนนราชดำเนินกลาง

 

เดิมเป็นอาคารว่างเปล่าแล้วเป็นโกดังเก็บผ้าของทางราชการ ต่อมาบริษัทศิลป์ไทย (ซึ่งมีนายพิสิฐ ตันสัจจา เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นด้วย) ได้ขอเช่าพื้นที่ ริเริ่มปรับปรุงต่อเติมเป็นสถานบันเทิง ออกแบบและควบคุมโดย อาจารย์ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา สถาปนิกชั้นนำของเมืองไทย ใช้งบประมาณถึง 1 ล้านบาท

 

เปิดดำเนินการเป็นสถานที่แสดงละครเวทีอาชีพระหว่าง พ.ศ. 2492 ถึง พ.ศ. 2496 จึงเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ทางศาลาเฉลิมไทยได้จัดแสดงละครเวทีเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ เป็นการอำลาอาลัยการปิดตัวถาวร หลังจากนั้นจึงได้ขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ เครื่องฉาย รถขายไอศกรีม ลำโพง ตัวอักษรชื่อโรง พร้อมกับการรื้อถอนทั้งหมด เพื่อสร้างเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งทำให้เห็นโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ได้เต็มที่

 

<------------->

 

 

<------------->

 

 

ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นโรงมหรสพ ซึ่งผสมผสานความสง่างามแบบโรงละครในยุโรปกับความหรูหราของศิลปะลวดลายไทยอันวิจิตร ทันสมัยยิ่งใหญ่ด้วยเวทีเลื่อนขึ้นลงได้ระบบไฮดรอลิค  เพียงแห่งเดียวของเมืองไทย สามารถจุผู้ชม 1,500 ที่นั่ง (ศาลาเฉลิมนคร 800 ที่นั่ง ,ศาลาเฉลิมกรุง 600 ที่นั่ง) ตั้งแต่ยุคละครเวที หลายเรื่องของคณะอัศวินการละครเป็นตำนานที่มีชื่อเสียง เช่น พันท้ายนรสิงห์ ,บ้านทรายทอง ฯลฯ

 

เมื่อเข้าสู่ยุคปรับเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 นอกจากตัวโรง ยังได้จัดพื้นที่ซึ่งเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมร้านข้าวโพดคั่ว (Pop Corn) อย่างโรงหนังต่างประเทศ และร้านไอศกรีมป๊อบ “ตราเป็ด” ที่ดังมากของยุค เป็นสัญลักษณ์มองเห็นแต่ไกล

ศาลาเฉลิมไทยมีบทบาทสำคัญในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นทั้งที่หลบภัยและโรงพยาบาลของคนเจ็บจากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

(1349)