ผ้าซิ่นทิวมุกจกดาว

สิ่นทิวมุกจกดาว หรือ ซิ่นทิวมุกจกดาว เป็นผ้าโบราณของเจ้านายสตรีชั้นสูงแห่งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย มีลักษณะผสมผสานเทคนิคการทอคือ การวางเครือเป็นซิ่นทิว การยกมุก และการจกดาว ถือเป็นผ้าซิ่นที่หายากและพบที่จังหวัดอุบลราชธานีเพียงแห่งเดียว

 

ในอดีตเป็นผ้านุ่งสำหรับ อัญญานาง หรือเจ้านายสตรีสายเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช แต่ละคุ้มแต่ละโฮงมีกันผืนสองผืนเท่านั้น เล่าสืบกันมาว่าช่างทอผู้ริเริ่มก็คือ อัญญานางเลื่อน เชื้อสายเจ้านายเมืองอุบล ในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้นท่านสิ้นวิธีการทอก็สูญหายหาคนทอไม่ได้ไปนับหลายสิบปี

จนกระทั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านลาดสมดี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ได้เริ่มโครงการฟื้นฟูผ้าพื้นเมืองลายโบราณจังหวัดอุบลราชธานี จึงมีการฟื้นฟูการทอซิ่นทิวมุกจกดาวขึ้นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2551

 

 

<------------->

 

 

<------------->

 

ซิ่นทิวมุกจกดาวบราณที่หลงเหลือในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี บริจาคโดยนางสงวนศักดิ์ คูณผล ซึ่งเก็บรักษาต่อมาจากมารดา คือ นางวรเวธวรรณกิจ (ทับทิม โชติบุตร) ซึ่งเป็นพระสหายสหชาติกับ หม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช

อีกหนึ่งผืนเป็นผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑสถาน วัดศรีอุบลรัตนาราม อีกส่วนหนึ่งอยู่ในความครอบครองของทายาทเจ้านายเชื้อสายเมืองอุบล คือ เรือตรีสุนัย ณ อุบล และ นายบำเพ็ญ ณ อุบล

 

ผ้าซิ่นทิวมุกจกดาว ถือเป็นผ้าที่ทอได้ยากยิ่ง ต้องอาศัยความอุตสาหะ ในการทอ หนึ่งผืนใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือน ด้วยการผสานเทคนิคที่ลงตัวทำให้ได้ลักษณะซิ่นที่เรียบหรู ทรงพลัง และบ่งบอกถึงเกียรติยศของผู้สวมใส่ ดังนั้นจึงพบว่าซิ่นชนิดนี้มีเพียงเจ้านายสตรีชั้นสูงในเมืองอุบลเท่านั้นถึงมีสิทธิ์สวมใส่

 

ปัจจุบันการทอซิ่นทิวมุกจกดาว ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และในภาคเอกชนคือ บ้านคำปุน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมชั้นดีของเมืองอุบล ได้มีการทอขึ้นมาเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวอุบลอย่างต่อเนื่อง โดยการเลือกสรร วัสดุชั้นดี

(1362)