งานช่างแทงหยวก

การสลักหยวกหรือการแทงหยวก เป็นงานฝีมือช่างประเภทหนึ่งที่อยู่ในช่าง สิบหมู่ ประเภทช่างสลักของอ่อน ย้อนหลังไปประมาณ 20-30 ปี ขึ้นไป มีประเพณีที่เกี่ยวกับการแทงหยวกกล้วยอยู่ 2 อย่าง คือ การโกนจุกเเละการเผาศพ (โดยเฉพาะศพผู้ที่มีฐานะปานกลาง) งานโกนจุกหรือประเพณีการโกนจุก จะมีการจำลองเขาพระสุเมรุ ตามความเชื่อ เเล้วตกเเต่งภูเขาด้วยรูปสัตว์ต่างๆ ส่วนภูเขาพระสุเมรุจะตั้งอยู่ตรงกลางร้านม้า ซึ่งทำโครงสร้างด้วยไม้เเล้วหุ้มด้วยหยวกกล้วยเเกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ประเพณีการเผาศพก็เช่นกันจะทำ ร้านม้า ซึ่งทำโครงสร้างด้วยไม้แล้วประดับด้วยหยวกกล้วยแกะสลักอย่างงดงาม

การสลักหยวกกล้วยนั้นผู้ที่เป็นช่างจะต้องได้รับการฝึกหัดจนเกิดความชำนาญพอสมควร เพราะการสลักหยวกกล้วยนั้นช่างจะไม่วาดลวดลายลงไปก่อนจับมีดได้ก็ ลงมือสลักกันเลยทีเดียว จึงเรียกตามการทำงานนี้ว่า “การแทงหยวก” ประกอบกับมีดที่ใช้มีปลายเเหลม เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เหมาะสมที่จะเรียกว่า “แทงหยวก”

งานช่างแทงหยวกเป็นงานช่างแขนงหนึ่งของหมู่ช่างแกะ คือ ในหมู่งานช่างเครื่องสด อันประกอบด้วยงานช่างแทงหยวก งานแกะสลักของอ่อน และงานประดิษฐ์ดอกไม้สด งานช่างแทงหยวก หมายถึง งานช่างวิจิตรศิลป์ที่ใช้มีดสองคมแทงลงไปบนกาบกล้วยให้เกิดลวดลายเป็นแบบลายไทยในลักษณะต่างๆ ส่วนใหญ่นายช่างที่จะแทงหยวกได้นั้นจะต้องมีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องลายไทย การผูกลวดลาย เมื่อใช้มีดสองคมแทงลวดลายไปบนกาบกล้วยแล้ว จะไม่มีการร่างเส้นลวดลายลงบนกาบกล้วย เพราะจะทำให้กาบกล้วยช้ำ เป็นรอยไม่สวยงาม และงานช่างแขนงนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับงานช่างฝีมือแขนงอื่นๆ กล่าวคือวัสดุที่นำมาใช้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ ตัดและเก็บมาสดๆ สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ นายช่างที่ดีจึงจำเป็นจะต้องฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ ให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญอยู่เสมอ และสามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับงานช่างแทงหยวกนี้ให้กับบุคคลอื่นได้ และยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ของตนให้คงอยู่สืบต่อไปได้

 

<------------->

 

 

<------------->

 

งานช่างแทงหยวกสามารถพบเห็นได้ในงานพิธีมงคล อันได้แก่ ประกอบเบญจาในงานโกนจุก และพิธีทางพุทธศาสนา เช่น ใช้ตกแต่งธรรมมาสน์เทศน์ในงานเทศมหาชาติ ตกแต่งประดับตั้งองค์กฐิน เป็นต้น ส่วนในงานอวมงคลที่พบคือการแทงหยวกตกแต่งเชิงตะกอนเผาศพ เป็นประเพณีที่ยึดถือมาตั้งแต่โบราณกาล มีรูปแบบสืบทอดกันมาปรากฏในรูปแบบของงานราชสำนัก ที่เรียกว่า “พระจิตกาธาน” ที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ ออกเมรุที่ท้องสนามหลวง และรูปแบบของสกุลช่างชาวบ้าน ตามชุมชนหรือหัวเมืองจังหวัดต่างๆ เช่น ช่างแทงหยวกสกุลช่างวัดระฆังโฆษิตาราม ช่างแทงหยวกสกุลช่างวัดอัปสรสวรรค์ ช่างแทงหยวกสกุลช่างวัดดงมูลเหล็ก และช่างแทงหยวกสกุลเพชรบุรี เป็นต้น

งานช่างแทงหยวกเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมอีกแขนงหนึ่งที่กำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทยเพราะความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา และสภาพของสังคมไทยที่รับเอาวัฒนธรรมของชาติอื่นเข้ามาใช้ส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมนี้กำลังสูญหายไปในที่สุด

(6241)