ขนมเบื้อง

ขนมเบื้องเป็นขนมไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีหลักฐานกล่าวถึงในคำให้การขุนหลวงหาวัดว่า “บ้านหม้อปั้นหม้อข้าวหม้อแกงใหญ่เล็ก และกระทะเตาขนมครกขนมเบื้อง” ขนมเบื้องมี 2 แบบคือ

 

ขนมเบื้องไทย โดยทั่วไปมี 2 หน้าคือหน้ากุ้งและหน้าหวาน หน้ากุ้งใช้กุ้งแม่น้ำตัวโตสับละเอียดผสมกับพริกไทยและผักชีตำพร้อมมันกุ้ง นำไปผัดใส่น้ำตาล น้ำปลาหรือเกลือให้หอม ปัจจุบันมักเป็นหน้ามะพร้าวใส่สีแดง ส่วนหน้าหวานมีส่วนผสมของฟักเชื่อม ฝอยทองและพลับแห้งที่หั่นบางๆ ปัจจุบันมีแต่ฝอยทองกับครีม อย่างไรก็ตามในวังสวนสุนันทา มีหน้าหมูอีกอย่างหนึ่ง ใช้หมูสับคลุกคล้ากับกระเทียม พริกไทย รากผักชีโขลก ใส่พริกขี้หนู นำไปรวนพอสุก

 

ขนมเบื้องญวน เป็นขนมที่เข้ามาพร้อมกับเชลยชาวญวนในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งถูกกวาดต้อนมาระหว่างสงครามสยาม-เวียดนาม ขนมนี้ทำจากแป้งละลายกับไข่ให้ข้น ตักแป้งเทลงในกระทะที่ทาน้ำมันไว้ แผ่เป็นแผ่นกลม ใส่ไส้แล้วพับกลาง

 

<------------->

 

 

<------------->

 

 

ในสมัยพุทธกาลน่าจะมีการทำขนมเบื้องแล้ว เพราะในหนังสือ “ธรรมบทเผด็จ” กล่าวถึงเศรษฐีโกสิยะซึ่งเป็นคนตระหนี่อยากกินขนมเบื้อง จึงให้ภรรยาขึ้นไปทำขนมเบื้องบนปราสาทชั้นเจ็ดเพื่อจะได้ไม่ต้องแบ่งให้ใคร พระพุทธเจ้า จึงให้พระโมคคัลลานะไปขอรับบิณฑบาตรขนมเบื้อง เศรษฐีให้ทอดขนมชื้นเล็กๆถวาย แต่ทุกครั้งที่ละเลงแป้ง แป้งจะฟูขึ้นเต็มกระทะ เมื่อเสียดายให้ทำใหม่ก็เป็นแบบเดิมทุกครั้ง สุดท้ายเศรษฐีจึงละความพยายาม ยอมถวายขนมเบื้องไป พระโมคคัลลานะจึงเทศน์เรื่องโทษของความตระหนี่ เศรษบีและภรรขาได้บรรลุธรรมทั้งคู่ และเปลี่ยนมาเป็นคนใจบุญ

 

การละเลงขนมเบื้องให้สวยงามในสมัยโบราณถือเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของกุลสตรี ดังที่ปรากฏในเรื่องขุนช้างขุนแผนที่นางศรีมาลาและนางสร้อยฟ้าละเลงขนมเบื้อเปรียบเทียบฝีมือกัน และยังมีคำพังเพยกล่าวถึงคนช่างติ คนดีแต่พูดว่า”อย่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

(1499)