ขนมกระยาสารท

ขนมกระยาสารท เป็นชื่อขนมที่คนไทยรู้จักและทำกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เพราะเป็นขนมที่เกี่ยวข้องกับประเพณีของไทย คือการทำบุญสารท ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (สิ้นเดือนสิบ) ของทุกปี คนที่นับถือศาสนาพุทธ จะต้องนำขนม กระยาสารทไปทำบุญใส่บาตร จัดเป็นขนมที่ชาวพุทธทุกครัวเรือน ได้ทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ขนมกระยาสารทเป็นขนมที่อร่อย เก็บไว้รับประทานได้นาน จึงมีผู้นิยมรับประทานกันเป็นจำนวนมาก จึงได้มีผู้ทำจำหน่าย นอกเหนือจากเทศกาลสารท ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ทั้งปี มีรายได้ดี

ขนมกระยาสารท เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่นำเอาธัญพืชหลากหลายชนิด ส่วนผสมหลักก็มีข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่วลิสง งา นำไปคั่วให้สุก แล้วนำมากวนกับน้ำอ้อย จนกว่าจะเหนียวกรอบเกาะกันเป็นปึก สามารถปั้นเป็นก้อนหรือตัดเป็นชิ้นๆ ก็ได้ เพื่อให้เป็นขนมที่เก็บไว้กินได้นาน

การทำบุญวันสารทเดือนสิบ จะมีการทำบุญที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยอุทิศส่วนกุศลไปให้วิญญาณของบรรพบุรุษที่ตกอยู่ในเปรตภูมิ เป็นคติของศาสนาพราหมณ์ที่ผสมในประเพณีของพุทธศาสนา

พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญที่วัด ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนเพื่อร่วมพิธีตั้งเปรตและชิงเปรต อาจสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่ง ฝ่ายมารดาครั้งหนึ่ง จึงทำให้ผู้ที่ไปประกอบอาชีพจากถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิดได้มีโอกาสกลับมาพบปะสังสรรค์และรู้จักวงศาคณาญาติเพิ่มขึ้น

 

<------------->

 

 

<------------->

 

ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่ากระยาสารท และขนมอื่นๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่นในวันงานชาวบ้านจัดแจงนำข้าวปลา อาหาร และข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน ไปถือศีล ฟังธรรมนำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่นไปฝากซึ่งกันและกันยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกล หรือถาม
ข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน

บางท้องถิ่นทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่โพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ

ความเชื่อวันสารท เป็นวันที่ถือเป็นคติและเชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้ และเชื่อว่า หากทำบุญแล้วญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข

ขนมกระยาสารท นอกจากเป็นขนมที่ใช้ในการทำบุญในเทศกาลสารทของไทยแล้ว ยังเป็นขนมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และอุปนิสัยของคนไทย ที่ต้องใช้ความประณีตในการทำเป็นอย่างยิ่ง จึงจะได้ขนมที่แสนอร่อย สวยงาม น่ารับประทาน สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราควรอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่คนไทยตลอดไป

(1724)