ตารีกีปัส

“ตารีกีปัส” คำว่าตารี แปลว่า รำ คำว่า กีปัส แปลว่า พัด “ระบำตารีกีปัส” เป็นการแสดงที่อาศัยพัดเป็นองค์ประกอบสำคัญ จัดเป็นการแสดงชุดหนึ่งที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงใช้เพลงตารีกีปัส ซึ่งเป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง ใช้ดนตรีบรรเลงล้วนๆ มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจ ความไพเราะของเพลงอยู่ที่การเดี่ยวนำของเครื่องดนตรีทีละชิ้น

เครื่องดนตรีประกอบการแสดง ได้แก่ ไวโอลิน แมนตาลิน ขลุ่ย รำมะนา ฆ้อง มาลากัส บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เพลงตารีกีปัส เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง บรรเลงดนตรีล้วนๆ มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจความไพเราะของเพลงตารีกีปัส อยู่ที่การ โซโล่เสียงดนตรีทีละชิ้น แล้วบรรเลงประสานกัน

การแต่งกายแบบแสดงคู่ชายหญิง นิยมแต่งตามลักษณะของชนชั้นสูงของชาวไทยมุสลิมเต็มยศ ชาย จะใส่เสื้อตือ-โล๊ะบลางอ หญิง จะสวมเสื้อ เรียกว่า “บานง” ภาษามลายูกลางจะเรียกว่า “บันดง”

ส่วนการแสดงแบบหญิงล้วนแต่งกายโดยใช้เสื้อในนาง ไม่มีแขนสีดำ ผ้านุ่งเป็นโสร่งบาติกหรือผ้าซอแกะ สอดดิ้นเงินทองแบบมาเลเซีย ตัดเย็บแบบหน้านางหรือเลียนแบบจับจีบหางไหล ผ้าสไบ สำหรับคลุมไหล่ จับจีบเป็นใบด้านหน้า

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง ได้แก่ พัด มีลักษณะเป็นแพสีดำขนาดใหญ่ มีการฉลุลวดลายสวยงามปัจจุบันมีการตกแต่งพัดโดยติดแถบสีทองหรือสีอื่นๆ ที่ริมพัด แล้วใช้แพรสีสดตัดเป็นริ้วๆ ใช้แสดงในโอกาส ในงานพิธีการงานฉลอง และงานรื่นเริงทั่วไป