เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่

เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ (5 มกราคม พ.ศ. 2456 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2546) ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์พื้นเมืองล้านนา) ประจำปีพุทธศักราช 2541 เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2456 ในสกุล ณ เชียงใหม่ เป็นธิดาของเจ้าน้อยมรกต ณ เชียงใหม่ และเจ้าเกี๋ยงคำ ณ เชียงใหม่ มีเจ้าพี่ เจ้าน้องรวม 8 คน

 

ในวัยเด็กได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทำให้ได้เรียนรู้ฝึกฝน และสืบสานเพลงพื้นเมือง และการฟ้อนรำพื้นเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังจะสูญหายไว้เป็นจำนวนมาก เป็นผู้เชี่ยวชาญเพลงพื้นเมืองภาคเหนือที่ยังจดจำคำร้อง ทำนอง ไว้อย่างครบถ้วน

เมื่อ พ.ศ. 2513 ก่อนที่จะมีการก่อตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์ เชียงใหม่ ได้มีการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับนาฏศิลป์ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูนาฏศิลป์พื้นเมืองที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อจัดตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ขึ้นใน พ.ศ. 2514 ท่านได้รับเชิญให้มาเป็นผู้ชำนาญการสอนขับร้องเพลงไทยและเพลงพื้นเมือง ภาคเหนือ นับตั้งแต่นั้นมา ท่านได้ทำหน้าที่ เป็นครูถ่ายทอดศิลปะพื้นเมืองภาคเหนือให้สืบทอดต่อไป

เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินของกรมศิลปากร ตั้งแต่ครั้งที่นายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิการบดีกรมศิลปากร และได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลกรผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2533 ซึ่งกรมศิลปากรได้เชิญมาเป็นครูพิเศษขับร้องเพลงไทยและเพลงพื้นเมืองภาคเหนือที่วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ให้แก่ครูและนักศึกษาได้ขับร้องประกอบการแสดงจำนวนมาก อาทิ ระบำซอ (ซอยิ้น ซอจ๊อยเจียงแสน ซอโยนก) ซอล่องน่าน ฟ้อนม่านมุ้ยเซียงตา ฟ้อนโยคีถวายไฟ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังถ่ายทอดเพลงพื้นเมือง ได้แก่ ซออื่อก่อมหละอ่อน ซอสิกจุ้งจา ซออื่อ (เฒ่าสอนหลาน) ซอจั๊กปุ (สิกเก๊าแก) นับเป็นศิลปินครูที่สืบสานศิลปะการขับร้องเพลงพื้นเมืองดั้งเดิมของเชียงใหม่ให้ดำรงอยู่ในยุคปัจจุบัน เป็นการผดุงรักษาศิลปะดั้งเดิมของล้านนาไทยมิให้สูญหายไปกับกระแสความเจริญในปัจจุบัน

เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์พื้นเมืองล้านนา) ประจำปีพุทธศักราช 2541 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2546 สิริรวมอายุได้ 90 ปี