เครื่องดนตรีภาคเหนือ

เครื่องดนตรีภาคเหนือ ในยุคแรกจะเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ได้แก่ ท่อนไม้กลวง ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ในเรื่องภูตผีปีศาจและเจ้าป่า เจ้าเขา จากนั้น ได้มีการพัฒนาโดยนำหนังสัตว์มาขึงที่ปากท่อนไม้กลวงไว้กลายเป็นเครื่องดนตรีที่เรียกว่ากลอง

 

ต่อมามีการพัฒนารูปแบบของกลองให้แตกต่างออกไป เช่น กลองที่ขึงปิดด้วยหนังสัตว์เพียงหน้าเดียว ได้แก่ กลองรำมะนา กลองยาว กลองแอว และกลองที่ขึงด้วยหนังสัตว์ทั้งสองหน้า ได้แก่ กลองมองเซิง กลองสองหน้า และตะโพนมอญ นอกจากนี้ยังมีเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เช่น ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ

 

ส่วนเครื่องดนตรีประเภทเป่า ได้แก่ ขลุ่ย ย่ะเอ้ ปี่แน ปี่มอญ ปีสรไน และเครื่องสี ได้แก่ สะล้อลูก 5 สะล้อลูก 4 และ สะล้อ 3 สาย และเครื่องดีด ได้แก่ พิณเปี๊ยะ และซึง 3 ขนาด คือ ซึงน้อย ซึงกลาง และซึงใหญ่

 

สำหรับลักษณะเด่นของเครื่องดนตรีภาคเหนือ คือ มีการนำเครื่องดนตรีประเภท ดีด สี ตี เป่า มาผสมวงกันให้มีความสมบูรณ์และไพเราะ โดยเฉพาะในด้านสำเนียงและทำนองที่พลิ้วไหวตามบรรยากาศ ความนุ่มนวลอ่อนละมุนของธรรมชาติ

 

นอกจากนี้ยังมีการผสมทางวัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ และยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมในราชสำนักทำให้เกิดการถ่ายโยง และการบรรเลงดนตรีได้ทั้งในแบบราชสำนักของคุ้มและวัง และแบบพื้นบ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น