เพลงเรือ

เพลงเรือ เป็นเพลงพื้นบ้านที่เล่นกันในฤดูน้ำหลาก เป็นเพลงปฏิพากย์ชนิดเดียวที่ร้องเล่นกลางลำน้ำโดยพ่อเพลงและแม่เพลงอยู่คนละลำ จังหวัดที่เล่นเพลงเรือ ได้แก่ จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำในภาคกลาง เช่น อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และพิษณุโลก เพลงเรือส่วนใหญ่จะถนัดร้องบทชิงชู้ ฉันทลักษณ์เหมือนเพลงปรบไก่

 

ลักษณะบังคับของเพลงเรือคือ  บาทละ 2 วรรค  วรรคละ 7 – 9 คำ  จำนวนคำวรรคแรกมักมากกว่าวรรคหลัง  ไม่จำกัดความยาวในหนึ่งบทมีตั้งแต่ 3 คำกลอนขึ้นไป  จบบทด้วยคำว่า เอย  บังคับสัมผัสแบบกานต์ดั้น

 

วิธีเล่น การเล่นเพลงเรือหรือการขับเพลงให้ลงกับจังหวะพาย ผู้พายก็ต้องฟังเสียงเพลง ผู้ขับเพลงเรือหรือแม่เพลงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่จะหาคำ หรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม เข้ามาสอดแทรกเข้าไปให้เหมาะสม อาจเป็นแข่งขัน ยกย่อง เสียดสีซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วย ก่อน การเล่นเพลง  ต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูเสียก่อน

จากนั้นจึงจะเอื้อนกลอนพรรณนาหรือชักชวนให้ คนอื่นมาเล่นด้วย  โดยใช้วิธีว่ากลอนกระทบกระทั่งกระเช้าเย้าแหย่ จนคู่โต้มิอาจจะทนอยู่ได้ จึง เกิดการเล่นเพลงเรือโต้ตอบกันขึ้น การโต้ตอบกันด้วยเพลงเรือ บางทีก็เผ็ดร้อนใช้คารมที่คมคาย บางทีก็อาจเป็นทำนองรักหวานชื่น ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์