เต้นกำรำเคียว

เต้นกำรำเคียว เป็นการละเล่นพื้นบ้านซึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศเลิกทาส กำเนิดครั้งแรกที่บ้านสระทะเล ตำบลสระทะเล อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยหลวงศรีบุรีขวัญ เป็นผู้ประดิษฐ์เนื้อร้อง

 

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียวนั้นผู้เล่นเป็นชาวบ้านที่มาเกี่ยวข้าว ไม่จำกัดจำนวน ชาย หญิง จะจับคู่เล่นกันเป็นคู่ๆ ประมาณ 5 คู่ ถึง 10 คู่

การแต่งกาย ทั้งของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง คือ ชุดที่ใส่ในการทำนา ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วย และสวมเสื้อม่อฮ่อมสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มมีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวกสานใบลาน ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนสีดำ หรือโจงกระเบนผ้าลายก็ได้ และสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม สวมงอบ

 

เดิมชาวบ้านเรียกการละเล่นชนิดนี้ว่า “เต้นกำ” แต่กรมศิลปากรได้ไปถ่ายทอด และนำไปเผยแพร่ ก็ได้เพิ่มคำว่า “รำเคียว” ต่อท้าย จึงทำให้ประชาชนทั้งหลายรู้จักการละเล่นแบบนี้ในชื่อของ “เต้นกำรำเคียว” การนำเพลงเต้นกำรำเคียวไปเผยแพร่นั้น กรมศิลปากรได้ดัดแปลงท่ารำและเนื้อร้องใหม่ เพื่อให้สุภาพขึ้น และใช้ระนาดเป็นเครื่องดนตรีประกอบในตอนต้นและตอนท้าย เพลงเต้นกำรำเคียวนั้น ถือเป็นเพลงพื้นบ้านประจำจังหวัดนครสวรรค์ และในบางครั้งก็ใช้แทนเพลงพื้นบ้าน

ในนามภาคกลางด้วย